สวนตาก้าน ปากช่อง
สวนตาก้าน ปากช่อง
ปลายปี 2561 สวนตาก้านได้เริ่มแผนปลูกทุเรียน ที่บ้านหนองหมาก ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยจะนำพันธุ์ทุเรียนนนท์กว่า 30 พันธุ์ ไปปลูกภายใต้สภาพแวดล้อมภาคอีสาน เริ่มต้นจากการปรับพื้นที่ลาดชันให้เป็นร่องแห้ง และยกโคกเพื่อให้ดูแลทุเรียนได้ง่ายขึ้น เราต้องเผชิญความท้าทายหลายอย่างจากสภาพดิน น้ำ ลม แดด ในพื้นที่ ดังนี้
>> ดิน- เป็นดินร่วนปนทราย ไม่อุ้มน้ำ
>> น้ำ- น้ำใต้ดินส่วนใหญ่จะมีความเค็มจากชั้นเกลือ หากใช้น้ำบาดาลอาจทำให้ทุเรียนใบไหม้ จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำธรรมชาติหรือสร้างระบบกักเก็บน้ำที่ดี
>> ลม- ลมแรง อาจทำให้กิ่งทุเรียนฉีกขาดง่าย จึงต้องปลูกไม้บังลม
>> แดด - แดดแรง และความชื้นสัมพันธ์ในอากาศต่ำ
ภาพที่ 1 : สวนตาก้านปากช่อง ปลายปี 2561
เราได้เริ่มปลูกทุเรียนต้นปี 2562 หลังจากที่เราเริ่มต้นปลูกแล้ว สวนตาก้านขอสรุป 5 ขั้นตอน..สำหรับการเริ่มต้นปลูกทุเรียนอีสานเพื่อเป็นทางเลือกให้ทุกท่านนำไปปรับใช้
(1) - ปลูกเวลาเหมาะสม : ช่วงที่เหมาะสำหรับการปลูกทุเรียนในภาคอีสานคือ ปลายฝนต้นหนาว ราวเดือน สิงหาคม- กันยายน
(2) - วางผังสวนอย่างถูกต้อง : การวางร่องสวนควรทำร่องระบายน้ำกว้างประมาณ 2 เมตร เว้นอกร่องสำหรับปลูกทุเรียนกว้างประมาณ 6 เมตร ปลูกทุเรียนตรงกลางโดยการปลูกแบบยกโคก ควรพูนสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ความกว้างของโคก 1.5 เมตร ดินที่พูนโคกควรผสมอินทรีย์วัตถุที่ช่วยทำให้ดินอุ้มน้ำมากขึ้น
(3) - ระวังลมแรง : หลังจากปลูกเสร็จควรใส่ไม้ค้ำเพื่อป้องกันลมโยกต้น และมีไม้บังลมตลอดแนวสวน เช่น ไม้สัก ไผ่
(4) - ให้ร่มและเพิ่มความชื้น : โดยใช้สแลนพรางแสงอย่างถูกวิธี และควรปลูกพืชให้ร่มและให้ความชื้น เช่น กล้วย ทองหลาง หรือ พืชคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นผิวดิน
(5) - ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ : ควรให้ทุกวันในระยะ 1 เดือนแรก เวลาที่เหมาะสมแก่การให้น้ำที่สุดคือตอนเช้า
ต่อมาช่วงปลายปี 2562 สวนตาก้านได้นำแนวทางการปลูกพืชผสมผสานแบบชาวสวนนนท์มาใช้ที่ปากช่อง โดยการปลูกพืชคลุมดิน เช่น กล้วยหอม มันญี่ปุ่น มะเขือพวง พริกขี้หนู กระเจี๊ยบ การปลูกพืชผสมผสานมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเป็นรายได้ให้คนงานดูแลสวนระหว่างรอผลผลิตจากทุเรียน และยังเอื้อประโยชน์ต่อต้นทุเรียนหลายด้าน พืชที่เราแนะนำ 3 อย่าง คือ
กล้วยหอม : ช่วยบังแดด บังลมให้ต้นทุเรียน และลำต้นที่ตัดเครือเรียบร้อยแล้ว สามารถนำมาวางที่โคกทุเรียนเพื่อให้ความชื้นบนผิวดินได้
มันญี่ปุ่น : ช่วยคลุมดิน กักเก็บความชื้นบนผิวดิน
พริกขี้หนู มะเขือพวง กระเจี๊ยบ : เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี
ภาพที่ 2 : สวนตาก้านปากช่อง ปลายปี 2562
ต่อมาเมื่อทุเรียนอายุได้ 2 ปี เราก็ต้องรับมือกับฤดูแล้งในภาคอีสาน ปีนี้ร้อนจัดมาก ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ ในช่วงฤดูแล้งนั้น ภาคอีสานต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวในช่วงเช้า สลับกับอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน ทำให้ทุเรียนที่ปลูกใหม่มีอาการโทรมใบเหลืองได้ สวนตาก้านจึงได้ทำ 5 วิธีรับมือกับฤดูแล้งในภาคอีสาน ดังนี้
(1) - การให้น้ำสม่ำเสมอ
(2) - รักษาความชื้นในดิน
(3) - ให้ร่มเงากับทุเรียน
(4) - การฉีดธาตุอาหารทางใบ
(5) - การรับมือกับศัตรูพืช
ท่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของทั้ง 5 วิธีนี้ได้ที่ บทความปลูกทุเรียนอย่างไรในภาคอีสานตอนที่ 3
ภาพที่ 3 : สวนตาก้านปากช่อง ปี 2564
ในต้นปี 2566 ต้นทุเรียนของเราอายุ 4 ปีแล้ว พันธุ์ที่เติบโตดีของเรามีมากมาย เช่น พันธุ์ทับทิม กบชายน้ำ อีหนัก กบตานวล ทองย้อยเดิม ย่ำมะหวาด ลวง กำปั่นพวง ชายมะไฟ หมอนทอง ก้านยาว
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราก็ได้บทเรียนจากการปลูกทุเรียนในภาคอีสานในแต่ละฤดูกาล ในฤดูร้อนเราจะพบปัญหาแดดร้อนจัดซึ่งต้องแก้ไขโดยการให้น้ำทุกวันและปลูกทองหลางหรือกล้วย โดยเฉพาะกล้วยหอม กล้วยไข่ และกล้วยเล็บมือนาง เพื่อเป็นร่มเงาและสร้างความชื้น ส่วนในฤดูฝนเรามักจะพบปัญหาใบทุเรียนเหลือง เนื่องจากสภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายที่อุ้มน้ำและแน่น ต้องแก้ไขโดยการปลูกทุเรียนแบบขุดร่องแห้ง ที่สามารถระบายน้ำได้ดีเมื่อฝนตกหนัก
นอกจากนี้ในฤดูฝนเรายังพบโรคเพลี้ยจั๊กจั่นฝอย เพลี้ยไก่แจ้ ทำให้ใบทุเรียนไม่สมบูรณ์ หงิกงอ เนื่องจากถูกแย่งอาหาร และหอยทาก ทำให้ใบทุเรียนเป็นรูพรุน แก้ไขโดยการใช้ยาโรยที่ดินส่วนในฤดูหนาวจะต้องเผชิญกับอากาศหนาวจัดและลมแรง ซึ่งต้องแก้ไขโดยการให้น้ำในปริมาณที่มากขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะทุเรียนปลูกใหม่ หากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศา จะต้องพ่นน้ำที่ใบก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับใบทุเรียน
ส่วนเรื่องลมนั้น เราสามารถปลูกพืชบังลม โดยเฉพาะทางทิศเหนือและทิศตะวันออก และใช้วิธีการปลูกทุเรียนแบบสลับฟันปลาเพื่อให้เกิดการชะลอแรงลม โดยเมื่อต้นทุเรียนโดนลมแรงปะทะ ลมนั้นจะแปรเปลี่ยนทิศทาง (Aero Dynamic) และชะลอลง ช่วยลดความเสี่ยงที่ต้นทุเรียนจะหักเสียหาย
ภาพที่ 4 : สวนตาก้านปากช่อง ต้นปี 2566
รายละเอียดแต่ละตอนท่านสามารถติดตามได้ใน Youtube สวนตาก้าน
โปรดติดตาม... อัปเดตสวนตาก้านปากช่องในตอนต่อไป