วิธีการบำรุงรักษาทุเรียนในภาคอีสาน

คู่มือการปฏิบัติงานสวนทุเรียน ปากช่อง ในช่วงระยะ 1-5 ปีแรก

     การดูแลรักษาต้นทุเรียนในแต่ละภาคนั้นมีวิธีการที่แตกต่างกับออกไป เนื่องจากความแตกต่างในปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ ลักษณะดิน น้ำ ความชื้นในอากาศ อย่างไรก็ดี สำหรับแนวทางการดูแลรักษาต้นทุเรียนที่ปลูกในภาคอีสานให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ฉบับสวนตาก้านนั้น ควรมีการดำเนินการในช่วงเวลาต่างๆ ต่อไปนี้ 

"ระยะที่ 1 ในช่วงฤดูฝน" : ช่วงเดือน มิถุนายน-กันยายน

1."กำจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่ม" กวาดเศษหญ้าและใบทุเรียน ออกจากโคนต้น เพื่อให้ดินแห้งและระบายน้ำได้เร็วขึ้น 

2. "ใส่ปุ๋ยอินทรีย์" บริเวณรอบทรงพุ่ม โดยขึ้นอยู่กับขนาดของต้นทุเรียน 

3. "ป้องกันหรือกำจัดโรคแมลง" ที่จะเริ่มระบาดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า  หนอนกินเปลือกต้นทุเรียนที่จะเริ่มวางไข่ในช่วงฤดูฝน รวมถึงหอยทากทำให้ใบทุเรียนเป็นรูพรุน  และแมลงจำพวกเพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงและเพลี้ยไฟ ที่ทำให้ใบทุเรียนไม่สมบูรณ์ หงิกงอ 

  

 

"ระยะที่ 2 ในช่วงปลายฤดูฝน"  : ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

     เมื่อฝนทิ้งช่วงเกษตรกรต้องให้ความสนใจในการเข้าดูแลสวนอย่างใกล้ชิด  เพื่อเตรียมพร้อมในการรับถือกับฤดูแล้ง โดย

1. "ตัดแต่งกิ่ง" ที่เป็นกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค กิ่งแขนงด้านในทรงพุ่มออกโดยเร็ว ทารอยแผลที่ตัดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัด เชื้อรา หรือปูนแดงกินกับหมาก

2. "กำจัดวัชพืช" และเก็บทำความสะอาดรอบโคนทุเรียน  เนื่องจากทุเรียนมีรากหาอาหารอยู่ในระดับผิวดิน  ถ้าปล่อยให้หญ้าขึ้นรกนอกจากจะแย่งอาหารและน้ำจากต้นทุเรียนแล้ว  ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรูทุเรียนได้ด้วย  

3. "ใส่ปุ๋ยอินทรีย์" และ "ฉีดสังกะสี (Zinc) กับเม็กนีเซียม (Magnesium)" เพื่อป้องกันการเกิดใบจุดหรือใบด่าง

4. "เริ่มให้น้ำเพิ่มขึ้น" โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากน้อยไปมากตามสภาพอากาศ 

5. "ป้องกันหรือกำจัดโรคแมลง" โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลควรระวังเพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงและเพลี้ยไฟ

  

 

"ระยะที่ 3  การดูแลในช่วงฤดูหนาว" ช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธุ์

1. "ให้น้ำในปริมาณที่มากขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ " เนื่องจากดินจะแห้งง่ายกว่าในฤดูอื่นๆ โดยเฉพาะทุเรียนปลูกใหม่ หากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศา จะต้องพ่นน้ำที่ใบก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับใบทุเรียน

2. "รักษาความชื้นในดิน" : คลุมดินบริเวณทรงพุ่มทุเรียนเพื่อรักษาความชื้นในดิน ป้องกันดินบริเวณโคนแห้งแตกจากการโดนความร้อนจากแสงแดดจัด  วิธีการคือ 

- สำหรับทุเรียนปลูกใหม่ สามารถใช้ฟางกับหญ้าแห้ง ในกรณีที่เป็นดินเหนียวหรือดินร่วนปนทรายไม่ควรคลุมฟาง หรือหญ้าหนาเกินไป เพราะจะทำให้ทุเรียนใบเหลืองและเฉาได้ แต่ในกรณีที่เป็นดินทรายสามารถคลุมหญ้าหนาได้ เพราะดินทรายสูญเสียน้ำได้ง่าย

- ทุเรียน 2-3 ปี ใช้ต้นกล้วย ตัดเป็นส่วนๆ และวางรอบๆ โคนได้ 

3. "ป้องกันหรือกำจัดโรคแมลง" โดยเฉพาะเพลี้ยไก่แจ้ ไรแดงและเพลี้ยไฟ

 

 

 "ระยะที่ 4  การดูแลในช่วงฤดูร้อน" ช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม

 1. "การให้น้ำสม่ำเสมอ"  ต้องสำรวจความชื้นในดินก่อนว่าดินอุ้มน้ำได้มาก/ น้อยเพียงใด เพื่อให้น้ำในปริมาณที่เหมาะสมอย่างน้อยประมาณ 20-30 ลิตร/วัน โดยควรให้ทุกวันตอนเช้า เพื่อให้ต้นทุเรียนสามารถนำน้ำไปปรุงอาหารได้ในช่วงกลางวัน 

2. "รักษาความชื้นในดิน"  คลุมดินบริเวณทรงพุ่มทุเรียนเพื่อรักษาความชื้นในดิน ป้องกันดินบริเวณโคนแห้งแตกจากการโดนความร้อนจากแสงแดดจัด เช่นเดียวกับในฤดูหนาว

3. "ให้ร่มเงากับทุเรียน"  สามารถปลูกพืชให้ร่มเงาหรือใช้สแลน

- ปลูกกล้วย : ปลูกกล้วยหอม,กล้วยเล็บมือนาง,หรือกล้วยไข่ เพื่อให้ร่มแก่ต้นทุเรียน แต่ไม่ควรปลูกกล้วยน้ำว้า,กล้วยตานี,หรือ กล้วยหักมุก เนื่องจากรากกล้วยเหล่านี้จะแข็งและจะเข้ามากวนทุเรียน ถ้าจะต้องการปลูกจริงๆ ควรปลูกห่างต้นทุเรียนอย่างน้อย 2 เมตร 

- ปลูกพืชอื่น : ส้มโอ ส้ม มะกรูด หมาก ทองหลางน้ำ (ทองหลางใบมน) 

- ใช้สแลน : สำหรับทุเรียนปลูกใหม่ หรือแปลงทุเรียนที่ปลูกไม้ให้ร่มไม่ทัน สามารถใช้สแลนบังร่มได้ โดยกางสแลนบัง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านตะวันออก 2) ตะวันตก  3) เหนือหรือใต้อย่างใดอย่างหนึ่ง (เลือกด้านหนึ่งที่โดนแดดน้อยที่สุด) ไม่ควรกางสแลนปิดด้านบน เพราะจะทำให้ต้นทุเรียนไม่ได้น้ำค้างและยอดทุเรียนจะคุด นอกจากนี้ ควรกางสแลนสูงกว่าพื้นประมาณ 1-2 คืบเพื่อให้ลมผ่านสะดวก

4. "การฉีดธาตุอาหารทางใบ" : 

- สามารถฉีด "อโทนิค (atonik)"เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ทุเรียน ทุเรียนจะได้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

- กรณีที่ใบเป็นจุด : พอหมดฤดูฝน เข้าสู่ฤดูหนาวจะเห็นใบเป็นจุดโดยมีขอบเป็นเส้นสีแดง ในภาคอีสานไม่ใช่โรคราใบจุด แต่เป็นอาการขาดสังกะสี ซึ่งเป็นอาการปกติที่อาจจะพบเจอได้ทุกปี และสามารถป้องกันด้วยการฉีดแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) 

5) "การรับมือกับศัตรูพืช" : ในภาคอีสานจะแมลงพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่ตามไร่มัน และไร่ข้าวโพด เช่น เพลี้ยกระโดด,แมลงปีกแข็งต่างๆ ,เพลี้ยไฟและไรแดง 

- แมลงปีกแข็ง : แมลงปีกแข็งจะเข้ามากัดกินต้น ลำต้นจะเป็นรูพรุน หรือกัดใบเป็นรูคู่กัน 2 รู อย่างที่เราพบเก็นได้จากรอยกัดของแมงแมงอีนูน (Cockchafer)ใช้ยาไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin)หรือ อะบาเมคติน (Abamectin)

- แมลงปากดูด : เช่น เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไฟ ไรแดง  แนะนำให้ใช้อิมิดาโคลพริด (imidacloprid)หรืออะบาเมคติน (Abamectin)ที่ใช้ฉีดเพลี้ยก็ได้ สำหรับผู้ที่ใช้เคมีนั้น ขอให้ใช้เท่าที่จำเป็น

 

 

 

  

Visitors: 505,078