Issue 5 : เรื่องเล่าชาวสวน

 

เรื่องเล่าชาวสวน    โดย คุณอดิสรณ์

        ศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนท์จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจการปลูกทุเรียนของจังหวัดนนทบุรี     จากในอดีตของความรุ่งเรืองของทุเรียนนนทบุรี   การปลูกทุเรียนในนนทบุรีนั้นมีการปลูกมานานนับหลายร้อยปีก็ว่าได้   อดีตมีบันทึกหลายเล่มพูดถึงการปลูกทุเรียนในนนทบุรีแต่   เว็บนี้ได้จัดทำขึ้นจากประสบการณ์และการบอกเล่าจากบรรพบุรุษ  ศึกษาเพิ่มเติมมิได้เป็นหลักวิชาการอาจจะไม่ตรงตามตำราหลายเล่มเขียนขอให้ผู้อ่าน   เข้าใจว่าเว็บนี้ชาวบ้านทำจากภูมิปัญญาท้องถิ่น   จัดทำขึ้นจากครอบครัวที่เป็นเกษตรกรนนทบุรีมีอาชีพสวนทุเรียน   ฉะนั้นอาจมีข้อมูลผิดพลาดขออภัยท่านผู้อ่านด้วย   แนะนำตัวผู้จัดทำชื่อ นายอดิสรณ์   ฉิมน้อย  ปัจจุบันอายุ 54 ปี  เคยเป็นประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนอำเภอเมืองนนทบุรี    

           เกิดในสวนทุเรียนในคลอง บางนางเกริก เกิดมาก็เห็นต้นทุเรียนโอบไม่รอบ  ครอบครัวเราเป็นตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งในคลองบางกอกน้อยตอนในก็คือพวกเราคือลูกหลานตาฉิม  มีบ้านอยู่ริมคลองบางกอกน้อย   เลยใช้นามสกุล  “ฉิมน้อย”  พวกเรามีสวนทุเรียนมาตลอดจนถึงวาระสุดท้ายเมื่อเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 

            เริ่มต้นใหม่แต่ยังเป็นต้นทุนเดิมนั้นก็คือภูมิปัญญาท้องถิ่น  ของคนนนท์จากอดีตที่พวกเราได้ศึกษาและจดจำสิ่งนั้นไว้เพราะเราได้ผ่านการทดสอบมาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อ ปี 2538 ทำให้ทุเรียนต้นเก่าแก่ตายไปจำนวนมาก  แต่ครอบครัวของเราก็ยังยึดติดกับการประกอบอาชีพชาวสวน    เกิดมาทำอะไรมาบ้างจดจำอะไรได้จะเก็บมาเล่าให้ฟังการทำสวนในอดีต  เกิดมายังไม่มีไฟฟ้า  เกิดจากหมอตำแย   สมัยเด็กๆ  สวนทุเรียนที่ยายยกให้แม่สองขนัดมีทุเรียนกับมังคุด  ที่สำคัญสิ่งที่ผมเห็นในสวนทุเรียนที่ตาปลูกไว้หลังน้ำลดเมื่อ ปีพ.ศ. 2485  ก็คือสับปะรดง่วงช้าง  สับปะรดหลากสี   ส้มเขียวหวาน  มะปรางหวาน  มะยงชิดรอบบ้าน ลำไย   มะม่วงทุเรียน   มาสวนของพ่อบ้างเป็นสวนที่ย่ายกให้สวนเก่าเราก็มีละมุดไข่หาน  ทุเรียน   ละมุดสีดา  กระท้อน   ส้มเขียวหวาน  พ่อแม่ผมเริ่มขุดสวนใหม่เพิ่มเพราะกระท้อนห่อบางกร่าง  เริ่มดัง   ครอบครัวของเราเป็นคนทันสมัยก็ยกนาเป็นสวนคล้ายสวนผักปลูกพืชล้มลุก ปลูกผักอยู่หลายปีผมมีหน้าที่ ตอนเด็กเก็บมังคุดให้น้าไปขายริมคลองหลอดทุกวันศุกร์  ค่อยเก็บทุเรียนหล่นแข่งกับหมาที่แสนรู้เพราะมันชอบกินทุเรียน  เก็บสับปะรดพอเย็นก็เก็บผักบวบ แตงกวา ที่สวนยังปลูกอ้อยอีกสองขนัด นี่ล่ะเกษตรกรต้องทำทุกอย่าง   เครื่องสูบน้ำก็ยังไม่มีใช้ระหัดวิดน้ำ   เฝ้ามองระหัดสูบน้ำเสมอว่าสักวันจะต้องติดมันให้ได้   เวลาผ่านไปจำได้ว่าที่บ้านเริ่มหันมาปลูกผลไม้ตามกระแสมากขึ้นแต่เราก็ยังมีสวนทุเรียนเเก่และต้นก็แก่สูงกว่าเสาไฟฟ้าที่เริ่มเข้ามาติดตั้งในสวนเรา เริ่มปลูกกระท้อนห้อสามขนัดสวนก็สักสิบไร่ได้   กระท้อนเราก็มีหลายพันธุ์มากพวกเราเริ่มเข้าเรียนอยู่ในจังหวัดแต่ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบกันทุกคน ผมมีสามพี่น้องผมเป็นลูกชายคนเล็กคนเดี่ยวที่ต้องมีกิจกรรมทั้งเล่น  ทั้งเรียนและต้องทำสวนด้วยนั้นก็คือหน้าที่ของลูกชาวสวนในอดีต

          ทำสวนทุเรียนก็แล้ว   กระท้อนที่ทุกคนในบ้านจะต้องอยู่บนยอดกระท้อน ทุกปิดเทอมพอเปิดเทอมก็มีหน้าที่หักกระท้อนแบกเข่งกระท้อนเข่งทุเรียนข้ามเรือที่ท่าน้ำนนท์ทั้งชุดนักเรียนแทบทุกวัน   พอหมดกระท้อนหมดทุเรียนที่บ้านก็หันมาปลูกชมพู่   สีนาค สีชาติ  ชมพู่เพชร  เก็บวันละเป็นสิบเข่ง  มาถึงปี พ.ศ.2522 สายเลือดเกษตรกรมาก  ลิ้นจี่ลูกละบาทสนใจมากเลยหันมาเริ่มปลูกอีกห้าไร่ได้  กลายเป็นเกษตรกรที่เคยปลูกไม้ผลที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัยมาตลอดแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทิ้งก็คือสวนทุเรียน   อย่าสงสัยว่าทำไมเคยปลูกผลไม้แทบทุกชนิด  ตอบได้เพราะแม่เป็นแม่ค้านักการตลาดที่ดี  พ่อและลูกๆเป็นผู้ผลิตที่มีความชำนาญ ที่บ้านมีที่ดินเกือบสามสิบไร่ปัจจุบันยังเป็นสวนอยู่แต่บ้างสวนทำไม่ได้แล้ว   

          การทำสวนแต่ก่อนไม่ค่อยมีอุปสรรคมากเหมือนในปัจจุบัน เพียงแต่ผลไม้นนท์สมัยก่อนราคาไม่แพงเหมือนปัจจุบัน   ทุเรียนมีกันทุกสวน   กระท้อน   มะปราง มะม่วงมีกันทุกสวน แม่ค้ามารับซื้อถึงสวน ราคาถูกแต่ก็ขายได้  ผิดกับปัจจุบันไม่มีแม่ค้ารับซื้อตลาดที่จะให้ชาวสวนเอาไปขายก็หายาก    ลูกชาวสวนทุกคนเรียนหนังสือ  ทำงานและก็ทำสวนเป็นหน้าที่เราต้องสืบต่อไปอย่างไม่รู้จบ การทำสวนผลไม้มันอยู่ในสายเลือดของพวกเราทุกคน   เรียนหนังสือจบปริญญาก็ยังต้องทำสวน    จนถึงเวลาแต่งงานก็ได้ภรรยาเป็นลูกชาวสวน เป็นสวนทุเรียน

ก็ต้องมาช่วยทำสวนเพิ่มทำงานเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนอยู่ 10 กว่าปี  เห็นว่าที่บ้านชรากันมากแล้วทั้งพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย   หันกลับมาเป็นผู้บริหารสวนตัวเองอย่างเต็มที่   เข้าเป็นสมาชิกชมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์   จัดทำเว็บไซด์ www.durian-non.com เป็นกรรมการชมรมฯ จนถึงประธานชมรมฯระดับอำเภอ   เป็นวิทยากรเกี่ยวกับการปลูกทุเรียน ใช้สวนทุเรียนของเราที่ชื่อว่า "สวนตาก้าน" เป็นที่ศึกษาดูงาน ทำงานวิจัยกับหลายมหาวิทยาลัย   ก็มาใช้สวนเราศึกษาดูงานแม้กระทั่งรายการทีวีดังๆก็มาถ่ายทำสารคดีที่สวนเป็นประจำ  ที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้รับเกียรติบรรยายในต่างจังหวัด หรือแม้แต่ชาวต่างชาติที่สนใจมาดูทุเรียนนนท์ เช่นอินโดนิเชีย  ศรีลังกา  เวียดนาม    ให้สัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ  จากยุโรปและเอเชียซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับทุเรียนนนท์    ข้อมูลต่างๆที่เขียนขึ้นได้จากการลงพื้นที่สำรวจ  การร่วมทำงานวิจัยร่วมอบรมสัมมนา   เป็นกรรมการพิสูจน์พันธุ์ทุเรียนกับกรมวิชาการ    เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่สุดนั้นก็คือ  การเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตน์ ฯราชสุดา  ในปี พ.ศ.2550 ที่พระองค์ทรงตรัสกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทุเรียนที่เข้าเฝ้า  ณ  วังสวนจิตรดา    ความตอนหนึ่งว่า “  ถนนตัดใหม่เยอะอย่าพึ่งขายที่กันนะ  ปลูกทุเรียนไว้ก่อน   ทุเรียนนนท์พันธุ์เดิมยังมีอยู่ไหมอร่อย   “  จากการที่ได้ฟังพระองค์ท่านก็ทำให้คิดว่าแม้พระองค์อยู่สูงเพียงไหน    แต่พระองค์ท่านยังรู้จักทุเรียนทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของนนทบุรี      เราเองซึ่งถือได้ว่าเป็นสายเลือดของคนนนท์  มีทั้งรากเหงามีทั้งที่ดิน     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เริ่มศึกษา ทดลอง  ขยายพันธุ์  ดูงานตามต่างจังหวัด  ขับรถยนต์คันเก่งพาครอบครัวดูงาน  ระยอง  จันทบุรี    ประจวบ  ชุมพร กระบี่ ที่ไหนมีการปลูกดีขยายพันธุ์เก่งขอดู ศึกษา   ถึงเวลาที่เริ่มทำกิ่งพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านนนท์ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2550  ถึงปัจจุบันทำกิ่งจำหน่ายและแจกไปมากกว่า 30,000 กิ่ง ที่สวนเราตอนนั้นมีพันธุ์พื้นบ้านในสวน   15  สายพันธุ์และสวนพี่น้องในตำบลบางกร่างที่เราทำมีประมาณ 23 สายพันธุ์  มีผู้สนใจมาจากหลายจังหวัด  ตั้งแต่เหนือจดใต้แต่คนที่สนใจน้อยสุดคือ   คนสวนนนท์   ทำอย่างไรให้ชาวสวนนนท์หันมาปลูกทุเรียนพื้นบ้านนนท์ของเราเหลืออยู่เพียงจังหวัดเดียวที่ยังมีทุเรียนพื้นบ้านกว่าร้อยสายพันธุ์(จากการสำรวจของชมรมฯเมื่อเดือนเมษายน  2554)เพราะแถวธนบุรีสวนทุเรียนเหลืออยู่ไม่กี่สวนแถวบางขุนศรีบางระมาด

             เช้าวันที่  26 ตุลาคม 2554  เวลาเก้าโมงสวนทุเรียนที่ชื่อสวนตาก้าน  ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีอันต้องจ่มอยู่ใต้บาดาล   กิ่งพันธุ์ที่มีอยู่กว่า200 กิ่งต้องขนไปไว้บนบ้าน  ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  แต่โชคดีที่มีพี่สาวและเพื่อนๆช่วยกันใช้เรือตัดยอดทุเรียนกว่า 46 สายพันธุ์ขับรถยนต์ลุยน้ำไปกับพี่จ่าสมศักดิ์  พุ่มเหล็ก  นำกิ่งพันธุ์ไปเสียบไว้ที่จังหวัดชุมพร   น้ำจมอยู่หนึ่งเดือนทุเรียนตายหมด  สูบน้ำแห้งโค่นทุเรียนต้นทุเรียนขายไม่ได้ก็เลยโค่นไว้จ้างคนงานเลื่อนแช่น้ำไว้ได้  13  ยก  เวลาของนักต่อสู้ก็เริ่มขึ้นปรับสภาพสวนเก็บขยะออกจากสวนใช้เงินไปหลายหมื่นบาท    สวนยังไม่มีต้นไม้ขึ้นเลยเริ่มศักราชใหม่ ปี พ.ศ. 2555  ปลูกกล้วยหอม ปลูกส้มเขียวหวาน  ทำคันกันน้ำใหม่ ขุดบ่อน้ำไว้สู้แล้ว  ถมดินไปกว่า 200 คันเป็นบทเรียนที่เริ่มต้นใหม่กับการรับมือกับธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมเมือง

           จนวันหนึ่งรายทีวีข่าว ช่อง ไทยทีบีเอส  ออกอากาศความสูญเสียของทุเรียนนนท์และสวนตาก้าน  ทำให้ผู้บริหารโรงงานยาสูบเห็นข่าวจึงติดต่อกลับมามีอะไรให้โรงงานยาสูบช่วยชาวสวนนนท์ได้บ้าง  ดีใจที่ยังมีผู้ใหญ่ใจดีสนใจทุเรียนนนท์ก็เลยขอทำโครงการนำกิ่งพันธุ์ที่ไปเสียบยอดฝากไว้ที่ชุมพรกลับมาแจกพี่น้องชาวสวนทุเรียนกว่า 8,000 กิ่ง จัดอบรมสัมมนาก่อนแจก  จัดทำโรงเรือนอนุบาลทุเรียนก่อนแจก สร้างศูนย์เรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรีที่สร้างจากไม้ทุเรียนหลังแรกในประเทศไทย   ที่สวยงามไม้ทุเรียนจากสวนของเราไว้เป็นที่ระลึกแห่งความเสียหาย  ขอขอบคุณผู้บริหารโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังที่ให้การสนับสนุน

             ชาวสวนเริ่มปลูกทุเรียนกันจากกิ่งพันธุ์ที่ได้รับแจกจากโครงการที่โรงงานยาสูบสนับสนุนกิ่งพันธุ์ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีโดย พ.ต.อ.ดร.ธงชัย  เย็นประเสริฐ  แจกให้เกษตรกรและโครงการทุเรียนกลับบ้านของกรมวิชาการจัดทำกิ่งพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนนทบุรีถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯราชสุดา  เพื่อแจกให้เกษตรกรสวนทุเรียนนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของทุเรียนนนทบุรี   ถึงเวลาที่ชาวสวนทุเรียนเริ่มคลายทุกข์ได้เงินช่วยเหลือไร่ละ 5098 บาท  บางคนก็ดีใจบางก็เสียใจ ก็เริ่มมีการชักชวนกันชุมนุมให้ปิดถนนเรียกร้องเงิน   ชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนทบุรีมีผู้นำที่ดีท่านนายกสุพจน์  ธูปแพเราชุมนุมเรียกร้องกันที่วัดสวนแก้ว  ของพระอาจารย์พยอม  ที่ท่านยินดีให้ใช้สถานที่จนดังไปทั่วประเทศว่าเป็นการชุมนุมที่ดีที่สุดชุมนุมเรียกร้องในวัด  จนถึงวันนี้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้รับเงินไปกันเรียบร้อยแล้ว แต่การต่อสู้กับภัยธรรมชาติก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของชาวสวนคือ  ฝนทิ้งช่วงร้อนจัด  ฝนกรด น้ำเค็มมากในรอบร้อยปี สภาพอากาศเปลี่ยนไป   แต่จิตใจและความเป็นชาวสวนทุเรียนนนท์ยังสู้อยู่  แต่ไม่รู้ว่าสักวันหนึ่งเราอาจจะสู้ไม่ได้แต่ยืนยันว่าจะ "อนุรักษ์ทุเรียนให้อยู่คู่กับเมืองนนท์ "

 

 

 

 

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญและสนใจทุเรียนนนท์  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอีก 4-5 ปีทุเรียนนนท์จะกลับมาเป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก 

                                       

                                 

                                              เรื่องเล่าชาวสวน จาก.... คุณตาสนิท  สุขก้อน

          ทุเรียนสมัยก่อนที่ผมปลูกดกมากเพราะมีสภาพอากาศที่ดี หนาวยาวนานกว่าในปัจจุบัน ทุเรียนต้นหนึ่งเต็มที่ในสมัยก่อนจะมีลูกได้ถึง 50-70 ลูกต่อหนึ่งต้น สวนทุเรียนของผมที่ บางกรวย พันธุ์ฉัตรสีทองต้นใหญ่และสูงปีหนึ่งให้ลูกถึง 70 ลูก โดยต้นไม่ตาย พอหลังจากการตัดลูกเสร็จหมด ก็จะสาดเลนครับเพื่อเป็นปุ๋ยให้กับทุเรียนในการฟื้นฟูต้นเพื่อเตรียมออกลูกในปีถัดไป

 

 

            ในฤดูฝนผมใช้พร้าโบราณเหวียงตัดหญ้าลงไปในท้องร่อง เพื่อให้หญ้าเน่ากลายเป็นขี้เลนที่จะสาดในปีถัดไป การปลูกทุเรียนเล็กในสมัยก่อน ก็ปลูกยกโคกสูงประมาณหัวเข่า และมีการเสริมโคกอยู่เสมอๆครับ การป้องกันเพลี้ยหรือแมลง ในสมัยก่อนไม่นิยมใช้ยาฆ่าแมลงนักเนื่องจากมันเป็นอันตรายต่อทุเรียนและคนปลูกครับ จึงใช้วิธีการสาดน้ำโคลนทำได้โดยการนำแคลงตีให้น้ำขุ่นเป็นน้ำโคลนบางๆ แล้วสาดใส่ใบทุเรียน สาดบ่อยๆทำให้ใบทุเรียนมีโคลนติดจากนั้นจะไม่มีแมลงใดๆมากินใบเลย ถ้าไม่เชื่อก็สามารถลองดูได้สำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดต้นทุนการผลิต ใส่ปุ๋ยการใช้โคลนใส่รอบๆโคก จะทำให้ทุเรียนเติบโตได้ดี

   

 

              การขายทุเรียนในสมัยก่อนนั้นเราต้องไปขายเองที่ตลาด 6 ทุ่มต้องออกไปขาย ถ้าโชคดีก็จะมีคนจีน(เจ๊ก)มาซื้อที่โป๊ะเรือจนหมดไม่ต้องไปขายต่อที่ตลาด โดยราคาสมัยก่อนก็ถือว่าแพงพอสมควร ในสมัยก๋วยเตี๋ยว,ราดหน้า ชามละ 1 บาท โอเลี้ยงแก้วละ 70 สตางค์ ราคากระดุมอยู่ที่ประมาณ 8-12 บาท ส่วนทุเรียนที่แพงที่สุดแน่นอนว่าคือพันธุ์ก้านยาวราคาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 50 บาท การทำทุเรียนนั้นทำให้ผมมีชีวิตที่ดี ผมสามารถทำสวนแล้วส่งลูก 2 คนเรียนจนจบปริญญาได้ .......... แม้ว่ามันจะเหนื่อยแต่ผมมีความสุขกับมัน.......

 

                                                                                             สนิท สุขก้อน

 

 

                                                                                                                                                       Last updated : 06/08/2558

Visitors: 505,792