สารคดีเฉลิมพระเกียรติ
สารคดีเฉลิมพระเกียรติ รายการ ฟ้าห่มดิน ทางช่อง 5 วันที่ 14-17 มกราคม 2559 เวลา 13.00 น. - 13.05 น. มีจำนวน 4 เทป
Q : จุดเริ่มต้น ประวัติความเป็นมาของการตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี
จังหวัดนนทบุรี ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยสภาพอากาศ และสภาพดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ชาวสวนทุเรียนนนทบุรีต่างตระหนักถึงความสำคัญของพันธุ์ทุเรียนที่หลากหลาย โดยเฉพาะพันธุ์ทุเรียนโบราณ จึงได้มีการอนุรักษ์พันธุ์ไว้เพื่อสืบทอดต่อรุ่นสู่รุ่นทำให้ปัจจุบันทุเรียนนนทบุรีมีความหลากหลายสายพันธุ์ และมีคุณภาพเฉพาะที่แตกต่างกันไป นอกจากทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว จังหวัดนนทบุรียังเป็นจังหวัด ต้นกำเนิดของทุเรียนอีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาพันธุ์ จากการปลูกด้วยเมล็ดและคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกร ทำให้ได้ทุเรียนสายพันธุ์ดี และหลากหลาย จากผลของอุทกภัย ปี 54 ทำให้สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีเหลือน้อยมาก และสายพันธุ์ทุเรียนเก่าแก่เริ่มศูนย์หาย กลายเป็นของหายาก จึงเกิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี ขึ้น โดยการสนับสนุนจากโรงงานยาสูบ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านและเห็นว่าที่สวนตาก้านนี้เอทำการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนมายาวนาน มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี เป็นอาคารหลังแรกในประเทศไทยที่ปลูกสร้างด้วยไม้ทุเรียน และเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับทุเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ที่จะคอยช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักเรียน มีการจัดอบรมสัมมนาหรือเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยเป้าหมายหลักก็เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์สวนทุเรียนและผลไม้เมืองนนท์ไว้ให้ลูกหลาน
Q : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงห่วงใยเกษตรกรที่ได้ สวนโดนน้ำท่วมอย่างไร โดยเฉพาะทุเรียนนนท์
สำหรับทุเรียนนนท์เอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยเกษตรกรและพันธุ์ทุเรียนนนท์ที่ได้รับความเสียหายจึงทรงพระราชทานต้นพันธุ์ทุเรียน ในโครงการกู้วิกฤตสวนไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย ให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี และมาเยี่ยมสวนเกษตรกร ในอำเภอเมือง จ.นนทบุรี อีกทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ สวนไม้เมืองนนท์ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการบริหารและสนับสนุนสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ด และเกษตรกรชาวสวนนนท์ ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงห่วงใยว่าทุเรียนนนท์จะสูญหายไป และนับวันจะหาดูได้ยาก เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวจังหวัดนนทบุรี และเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนนนท์พันธุ์พื้นเมืองที่หายากและพันธุ์ไม้พื้นเมืองนนท์
Q : เรื่องพระเทพทรงห่วงใย และใส่พระทัยในทุกข์สุขของราษฎรอย่างไร
“ คิดว่าพระเทพ เป็น เจ้าหญิงนักพัฒนา” การพัฒนาคือการทำให้สิ่งนั้นๆ ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชุมชน บุคคล หรือแม้แต่ยกระดับจิตใจคนให้ดีขึ้น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภาพหนึ่งซึ่งประชาชนชาวไทยต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือภาพที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ โดยเฉพาะในส่วนของงานพัฒนาในด้านต่างๆ ในชนบทอันห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา และได้แรงบันดาลพระทัยจากการที่ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทรงทราบปัญหาต่างๆ เพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น โดยเน้นหนักถึงองค์ประกอบของคุณภาพชีวิตใน 4 ด้านหลักๆ คือ ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านทางงานโครงการตามพระราชดำริต่างๆ มากมาย และนี่คือเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงเป็นเทพธิดาในหัวใจของประชาชนชาวไทยเสมอมา
Q : ในฐานนะที่เป็นคนสำคัญที่ตั้งศูนย์ ท่านน้อมนำแนวพระราชดำริ ของในหลวงและพระเทพมาปรับใช้ ช่วยเหลือ และถ่ายทอดให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกทุเรียนนนท์อย่างไรบ้าง
แนวคิดของในหลวง แนวคิดการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของเกษตรกรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (Self Reliance) แนวพระราชดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมชุมชนหรือการพัฒนาชนบทที่สำคัญๆ คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนา คือ การที่ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้เกิดการพึ่งตนเองได้ของคนในชนบทเป็นหลัก กิจกรรมและโครงการตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ทั่วประเทศในปัจจุบันนั้นล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การพึ่งตนเองได้ของราษฎรทั้งสิ้น
Q : กล่าวถึง ความโชคดีที่เกิดเป็นคนไทย อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ของในหลวงและพระเทพ
พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายทำงานหนักเพื่อประชาชน ด้วยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังจะพัฒนาประชาชนในชนบทให้สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ พออยู่ พอกิน เสียก่อน จากนั้นก็จะเพิ่มระดับการพึ่งตนเองได้เป็นลำดับ ในหลวงทรงริเริ่ม โครงการพระราชดำริมากมายที่ทำให้เกิดการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน