Issue 4 : บทเรียนจากปัญหาน้ำเค็ม
บทเรียนจากวิกฤติน้ำเค็ม
ปัญหาน้ำเค็มหรือ น้ำทะเลหนุน คืออะไร ?
ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าเขตน้ำจืด เกิดจากน้ำทะเลที่หนุนจากทะเลเข้ามาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่ปล่อยจากเขื่อนหรือน้ำต้นทุนมีน้อย ทำให้น้ำทะเลหนุนเข้ามามากกว่าปกติ ส่งผลให้เขตพื้นที่การเกษตรของจังหวัดนนทบุรีและพื้นที่ภาคกลางตอนล่างหลายจังหวัดที่ใช้น้ำจากระบบชลประทานจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบ
ปัญหาน้ำเค็มส่งผลกระทบต่อชาวสวนนนทบุรีอย่างไร ?
ปัญหาน้ำเค็มหรือน้ำทะเลหนุนเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับเมืองนนทบุรีมาเป็นเวลานานหลายสิบปีมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ของเกษตรกร แต่ภาวะน้ำเค็มในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต เพราะ ในอดีตน้ำเค็มจะหนุนเพียงบางปีและกินระยะเวลาไม่นานและยังไม่ส่งผลกระทบต่อการทำสวนทุเรียน ในปี2556เป็นต้นมา น้ำเค็มหนุนรุกเข้ามาทุกปีและกินระยะเวลายาวนานถึง 7-10 เดือนใน 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต คุณภาพผลผลิตทุเรียน เนื่องจากทำให้ความสมบูรณ์ของต้นลดลง อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อดินในระยะยาวทำให้เกษตรกรพบกับปัญหาอย่างมาก
ทำให้ชาวสวนที่ใช้น้ำจากระบบชลประทานแม่น้ำเจ้าพระยา ปลูกทุเรียนแล้วตาย ปลูกอีกก็ตายอีกเช่นกัน ขณะที่สวนที่เหลือรอดอยู่ได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ใช้น้ำประปาและมีวิธีการรับมือกับน้ำเค็มอย่างถูกต้อง เกษตรกรต้องหยุดใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติและหันมาใช้น้ำประปาแทนในช่วงที่น้ำเค็มรุกล้ำหนัก ซึ่งการใช้น้ำประปาในการทำเกษตร โดยเฉพาะต้นทุเรียนที่มีความต้องการน้ำและความชื้นสูงเกษตรกรเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ เช่น ปริมาณที่ใช้ได้อย่างจำกัด ต้นทุนในการดำเนินการขอใช้และติดตั้ง ราคาน้ำประปาสูง เป็นต้นซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนและอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในการทำสวนทุเรียน
ลักษณะของต้นทุเรียนเสียหายจากน้ำเค็ม
ในตอนแรกสีใบจะเริ่มเหลือง เนื่องจากทุเรียนจะคายความเค็มที่ดูดขึ้นมาออกทางใบ ต่อมาขอบใบจะเริ่มเหลืองมากขึ้นและค่อยๆไหม้จากขอบใบเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อต้นแตกยอด ใบที่แตกยอดจะเป็นใบเล็กและไม่สมบูรณ์ หากอาการร้อนจัดต้นทุเรียนจะยิ่งคายน้ำมากขึ้น และในที่สุดใบจะร่วง ต้นจะโทรมและค่อยๆตายไป
เมื่อพบว่าต้นทุเรียนเสียหายจากน้ำเค็มแล้ว ควรทำอย่างไร?
1. ควรหยุดให้น้ำที่มีค่าความเค็มสูงทันที เนื่องจากหากรดน้ำทุเรียนด้วยน้ำเค็มต่อไปจะทำให้ความเค็มฝังอยู่กับดิน ในระยะยาวต้นทุเรียนอาจจะตายได้ และหากความเค็มฝังอยู่ในดินปริมาณมากจะทำให้ต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ตายด้วยเช่นเดียวกัน
2. ใช้เครื่องวัดความเค็มวัดน้ำที่ใช้รดต้นทุเรียนก่อนทุกครั้ง โดยน้ำที่รดได้ต้องมีค่าความเค็มต่ำกว่า 0.30 ppt หรือ 300 ppm
เกษตรกรควร “ปรับตัว” อย่างไร ?
ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องรู้จักสภาพแวดล้อมและเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่เสมอ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน มีดังนี้
“น้ำ” เกษตรกรควรวัดค่าน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยมาตรการวัดน้ำเค็มนั้นจะมี 2 แบบ คือ หนึ่งเครื่องวัดน้ำเค็มที่มีหน่วยวัดเป็น ppm (ช่วงค่า 0-9990 ppm) สอง เครื่องวัดที่เกษตรกรในจังหวัดนนทบุรีใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งมีหน่วยเป็น ppt (ช่วงค่า 1.0 - 70.0 ppt) โดยน้ำที่สามารถน้ำมาใช้รดต้นทุเรียนได้จะต้องอยู่ที่ค่าต่ำกว่า 0.3 ppt หรือ ต่ำกว่า 300 ppm นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ “น้ำฝน” กล่าวคือ โดยปกติน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้าเป็นน้ำที่ไม่มีความเค็ม แต่เมื่อน้ำฝนนั้นได้ชะผ่านหน้าดินที่มีความเค็มสะสมอยู่ลงสู่ท้องร่องสวน จะทำให้น้ำในท้องร่องมีความเค็มได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรวัดค่าน้ำก่อนที่จะนำมาใช้รดต้นทุเรียนทุกครั้ง
“ดิน” เกษตรควรวัดค่า pH ของดินก่อนที่จะทำการปลูกต้นทุเรียน โดยค่า pH ของดินที่เหมาะสมต่อการปลูกทุเรียนควรอยู่ระหว่าง ค่า pH 6.5-7 ซึ่งในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่เคยโดนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 นั้นมีค่าความเป็นกรดอยู่ระหว่าง pH 4.5-5 เกษตรกรจึงต้องแก้ปัญหาความเป็นกรดของดินก่อน โดยการใช้ยิปซัมเพื่อปรับสภาพดินก่อนที่จะปลูกและทำให้ดินร่วนซุย
“ปุ๋ย” หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 หรือ 16-16-16 จะทำให้ดินเสื่อมสภาพลงอย่างแรง เกษตรกรจึงควรเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกขี้หมูหรือขี้วัวแทน และปลูกพืชคลุมดินที่มีประโยชน์ต่อต้นทุเรียนจำพวกต้นทองหลางหรือต้นปอเทือง อีกทั้งควรใช้หญ้าหรือฟางคลุมดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับดินและทำให้ความสมบูรณ์ของดินกลับมา
“ลมและแดด” ในปัจจุบันนี้ลมมีความแรงมากขึ้นและมาเป็นช่อง เกษตรกรจึงควรปลูกไม้กันลมไว้บริเวณเขตพื้นที่สวน โดยปลูกพืชบังลม จำพวกมะพร้าว ไผ่หวาน ขี้เหล็กและสะเดา อีกทั้งต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่นั้นควรปักไม้ให้แน่นและบังแดดโดยใช้ทางมะพร้าวบังด้านตะวันออกกับตะวันตก 2 ด้าน ไม่ควรปิดด้านบน เนื่องจากต้องเปิดไว้เพื่อให้ต้นทุเรียนรับน้ำค้าง
นอกจากนี้ข้อแนะนำเพิ่มเติม คือ เกษตรกรชาวสวนนนทบุรีควรปลูกพืชประจำถิ่น เช่น ทองหลาง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะนาวและกล้วยหอม เพื่อสร้างสมดุลของพืชในพื้นที่สวนและสร้างสมดุลให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ อีกทั้งเกษตรกรควรศึกษาหาความรู้เรื่องโรคพืชเกี่ยวกับทุเรียนให้ดีก่อนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้อย่างถูกวิธี
จะเห็นได้ว่าทางรอดของเกษตรกร คือ การ “ปรับตัว” โดยเริ่มต้นจากตัวเกษตรกรเองก่อนที่จะต้องเรียนรู้และพึ่งตัวเองเพื่อให้เกษตรในนนทบุรียังมีที่ยืนอยู่ ไม่ใช่เพียงชาวสวนทุเรียนเท่านั้นแต่รวมถึง สวนกระท้อน ส้มโอ มะปราง และผลไม้อื่นๆ ที่ต่างต้องฝ่าฟันกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานของรัฐนั้นก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนมาตรการการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ ทั้งในเรื่อง พื้นที่การปลูก ปัญหาน้ำเค็ม ปัญหาน้ำเสีย และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรทุกรูปแบบ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะเป็น “ที่พึ่ง” ของเกษตรกรได้หรือไม่นั้น เกษตรกรชาวสวนนนทบุรีจะรอดูกันต่อไป
“ อนุรักษ์ไว้ให้อยู่คู่เมืองนนท์”
อดิสรณ์ ฉิมน้อย
Last updated : 16/12/2558