Issue 3 : ความรัก ความหวัง ความฝัน เรื่องเล่าแห่งอาณาจักรผลไม้ราชา

  "ความรัก ความหวัง ความฝัน เรื่องเล่าแห่งอาณาจักรผลไม้ราชา" เป็นงานเขียนของ น้องพด นายพชรกฤษณ์ โตอิ้ม ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราว การมาเยือนสวนตาก้านของเรา หากอ่านแล้ว จินตนาการตามจะทำให้ทุกท่านรู้สึกได้ถึง ความรัก ความหวัง ความฝัน และเข้าใจปัญหาของชาวสวนกลางเมืองนนทบุรีแห่งนี้....   

 

  "ความรัก ความหวัง ความฝัน เรื่องเล่าแห่งอาณาจักรผลไม้ราชา"      

“ฤดูหน้า เดี๋ยวทุเรียนก็หมุนเวียนมาให้ทานกันใหม่ ไม่นานเกินรอหรอก”
เกือบลืมไปแล้วว่า ได้ยินคำพูดนี้มาจากที่ไหนซักแห่ง
จำได้ว่าเคยได้ยินจากคุณลุงคนหนึ่งระหว่างที่นั่งรถโดยสารประจำปรับอากาศสาย 516 จากบางลำพู มาลงตรง
อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ตลอดการเดินทางด้วยรถโดยสารสีฟ้าคันใหญ่ รถเคลื่อนตัวไปพร้อมๆกันกับ เรื่องเล่าทุเรียนนนท์ที่น่าสนใจของคุณลุง
แกบอกว่าแกเป็นชาวสวนทุเรียน
“เดี๋ยวทุเรียนก็หมุนเวียนมาให้ทานกันใหม่ ไม่นานเกินรอหรอก”
นั่นเป็นคำพูดที่ผมได้ฟังมื่อปี พ.ศ.2553 ก่อนน้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ.2554
ผมไม่เคยเจอคุณลุงคนนั้นอีกเลย
และไม่รู้เหมือนกันว่า ผมต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่

1.
“เข้ามาลึกมากเลยนะครับ”ผมพูดกับพี่พาฝัน ช่างภาพที่ลงพื้นที่ไปพร้อมกัน
พูดถึงน้ำท่วมปี 2554  ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี มีพื้นที่ประสบภัยกระจายตัวในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่เกิดน้ำท่วมหนักเป็นระยะเวลายาวนาน สร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม แล้วยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นอีกเป็นจำนวนมาก
จังหวัดนนทบุรีเป็นหนึ่งนั้นใน จังหวัดที่เมื่อใครได้ยิน ก็จะนึกถึงทุเรียนที่มีราคาแพงที่สุดในเมืองไทย
การเดินทางของพวกเรา เริ่มจากการติดตามข่าวคราวการเติบโตของสวนทุเรียนนนท์หลังจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2554 ก่อนจะมีแนวคิดลงพื้นที่จริงที่ศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี
ผมอยากยืนยันได้ว่า ทุเรียนนนท์ จะไม่กลายเป็นเพียงแค่เรื่องเล่า
ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี ตั้งอยู่ในตั้งอยู่ในตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี บริเวณใกล้กันกับอาคารของศูนย์การเรียนรู้ มีโรงเรือนอนุบาลทุเรียนเป็นที่ดูแลกิ่งของต้นทุเรียนในสายพันธุ์ต่างๆ บริเวณโดยรอบเป็นสวนทุเรียน ชื่อว่า “สวนตาก้าน” ของ คุณ “อดิสรณ์ ฉิมน้อย”อดีตประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนอำเภอเมืองนนทบุรี
เส้นทางการเดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้ฯ ต้องผ่านวัดบางกร่าง และเลี้ยวเข้าซอยมาเรื่อยๆ สังเกตได้จากสองฝากฝั่งจะมีสวนไม้ยืนต้นสีเขียวเต็มกันไปหมด สลับกับบ้านพักของผู้คนบ้างเป็นครั้งคราว และนานๆถึงจะมีรถสวนทางกับพวกเราบ้างเป็นบางครั้ง
การบันทึกความเป็นมาเกี่ยวกับทุเรียนนนท์มีหลักฐานที่ใช้อ้างอิงค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มักจะถูกบอกต่อกันมาเป็นตำนานเล่าขานเสียมาก หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “เมืองนนท์เมืองผลไม้” เขียนโดยคุณธำรง ธรรมนิตยกุล อดีตข้าราชการครูจังหวัดนนทบุรี อธิบายที่มาของทุเรียนนนท์ไว้ว่า
“เมื่อปี พ.ศ.2480 คุณสงวน ฉิมคล้าย เพื่อนนักเรียนฝึกหัดครู เคยเล่าว่า พ่อเล่าให้ฟัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ.2330 คุณปู่ (ของพ่อ) ชื่อนายสาย ฉิมคล้าย ถูกเกณฑ์ไปรบพม่าที่ เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด นั้น ได้เกิดขาดแคลนอาหาร ทหารไทยได้หาอาหารตามป่า ได้สัตว์ และผลไม้เป็นอาหาร
 ในนั้นมีผลไม้ที่มีเปลือกเป็นหนาม มีลำต้นสูงใหญ่แหงนคอตั้งบ่า ชาวมอญที่มาช่วยรบเรียกมันว่า “ทุเรียน” ทหารก็เก็บมากิน มีรสหวานอร่อย แต่เนื้อน้อย คุณปู่สายก็ได้เก็บเมล็ดใส่ยามจนเต็ม
เมื่อเลิกทัพกลับเมืองนนท์ คุณปู่สายก็นำเมล็ดแจกจ่ายให้ญาติและเพื่อนฝูงนำไปปลูกส่วนคุณปู่สายนำมาปลูกที่สวนใกล้วัดสัก อ.บางกรวย ต้นทุเรียนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ออกผล นำมาแบ่งกันกิน จนติดอกติดใจชาวสวนทั้งบางกรวย บางพลัด บางบำหรุ นำไปปลูกขยายพันธ์ และพัฒนามาจนทุกวันนี้ ”
สำหรับทางด้านของจังหวัดนนทบุรีเอง ก็มีพื้นที่ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย เป็นหนึ่งในจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี และนนทบุรี โดยห่างจากกรุงเทพมหานคร 20 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 622,303 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 388,939.37 ไร่
พื้นที่ปลูกสำหรับทุกเรียนนนท์นั้นอยู่ใน เขตพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอปากเกร็ด อำเภอไทรน้อย
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนคนก็เปลี่ยน
สมัยนี้ ทิศทางการเพิ่มขึ้นของจำนวนบ้านจัดสรร สวนทางกับ สวนทุเรียนที่ค่อยๆลดน้อยลง
ปัญหาที่ชาวสวนทุเรียนประสบคือ คนรุ่นใหม่จะไม่สนใจที่จะปลูกทุเรียนต่อ หรือบางส่วนก็โดนบังคับให้ขาย บางรายมีบริษัทสร้างบ้านจัดสรรซื้อที่ดินล้อมรอบสวนทุเรียน ปิดหมดทั้งทางเข้าออก พอจะเข้าไปขุดคลองก็ไม่สามารถขุดต่อไปได้อีกจึงต้องจำใจต้องขายที่ไป จนตอนนี้เหลือสวนทุเรียนอยู่เพียงที่ตำบลไทรม้า บางรักน้อย และบ้านกร่าง ที่ยังปลูกกันอยู่
ในปี พ.ศ. 2538 สวนทุเรียนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเสียหายจากน้ำท่วม ชาวสวนน้อยรายที่จะเริ่มปลูกทุเรียนขึ้นมาใหม่ และทำให้สวนอีกหลายๆแห่งเลิกที่จะทำสวนต่อ (ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยได้ทำการบันทึกไว้ ได้บ่งบอกให้เห็นว่าปี พ.ศ. 2485 นับเป็นหนึ่งในปีแห่งประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อสวนทุเรียนด้วยเช่นกัน)
ชาวสวนนนท์ต้องรู้สึกเสียใจและท้อแท้อีกครั้งเมื่อคราวอุกทกภัยปลายปี พ.ศ.2554 ความเสียหายทั้งหมดในจังหวัดนนทบุรีในขณะนั้นมีพื้นที่ปลูกต้นทุเรียนประมาณ 2941.5 กว่าไร่ เสียหายจากน้ำท่วมจำนวน 2,898.75 ไร่ ทำให้เหลือสวนทุเรียนเพียง 43 ไร่  คืออยู่ในพื้นที่ตำบลบางรักน้อย อ.เมือง จำนวน 15 ไร่ และ ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย 28 ไร่
ทุเรียนเมืองนนท์ต้องรอคอยเวลาอีก 5 ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพจนกว่าต้นทุเรียนแต่ละต้นจะเติบโตเต็มที่พร้อมสามารถให้ผลได้ ระหว่างนั้นชาวสวนต้องปลูกพืชอื่นๆควบคู่กันไปก่อนเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง
ชาวสวนทุเรียนต้องมีแรง ก่อนเริ่มเดินใหม่อีกครั้ง

 2.
เราเข้าซอยลึกมาเรื่อยๆ จนสังเกตเห็นป้ายไม้ติดกันข้างกอไผ่สูง ตัวอักษรสีทองสลักคำไว้ว่า
“ศูนย์การเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรี”
ทางเข้าจะมีลักษณะเป็นถนนยาวลึก ฝั่งด้านซ้ายของถนนจะสังเกตเห็นพื้นที่ที่ยกร่องปลูกทุเรียน มีต้นกล้วยปลูกขนนกันไปกับทางเข้า สุดถนนด้านในจะพบศูนย์การเรียนรู้ ติดกันมีเรือนไม้ทรงไทยทรงสูง 2 ชั้นและเป็นที่พักของเจ้าของสวนทุเรียนตาก้าน ถัดมาจะเป็นโรงเรือนอนุบาลทุเรียนที่มีกิ่งพันธุ์ของทุเรียนวางเรียงรายอยู่
เรานัดกับคุณอาหนุ่มไว้ตอน 11 โมง แต่เราไปตอนเวลา 10 โมงเศษๆ เราจึงยังไม่พบคุณอา แต่เราพบกับน้องป้อง ลูกชายของเจ้าของสวนทุเรียนตาก้าน
ตอนนั้นน้องป้องกำลังจะไปรดน้ำต้นทุเรียนอยู่พอดี เราเลยขอตามน้องป้องไปดูท้องร่องสวนทุเรียนด้วยกัน
หลังจากน้ำท่วมใหญ่ ต้นทุเรียนเสียหายและล้มตายกันหมด เหลือเพียงต้นทุเรียนปลูกใหม่ที่ต้องคอยให้ความเอาใจใส่ดูแลมากเป็นพิเศษ
ทุเรียนที่ขาดน้ำนานๆ จะแสดงอาการให้เห็นออกมา เช่น ลักษณะของใบจะเหี่ยวเฉาในเวลากลางวัน สีของใบไม่สดใส ด้านขอบใบจะมีสีเหลืองและไหม้จากปลายใบเข้ามาทำให้ต้นไม่เติบโต และพอเราปล่อยทิ้งต่อไป ใบจะเริ่มผลัดใบ จนสุดท้ายต้นทุเรียนอาจจะตายทั้งกิ่ง หรืออาจตายทั้งต้น
วิธีรดน้ำต้นทุเรียนที่น้องป้องใช้ จะสังเกตว่าต้นทุเรียนโตพอในระดับหนึ่งแล้ว จึงสามารถใช้วิธีตักจากน้ำในท้องร่อง รดไปยังต้นทุรียนที่ปลูกใหม่ได้เลย
ต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่ มักจะนิยมสร้างแบบหลุมปลูกโดยยกโคกให้สูงจากพื้นดิน ก่อออกมาเพิ่มต่อจากยกร่องสวนขึ้นสูงไปอีก แต่การยกโคกนี้ไม่ได้เอาดินที่อื่นมาทำโคก เพียงแต่เอาดินตรงบริเวณที่ต้องการจะปลูกทุเรียนนั้นมาพูนให้สูงเป็นโคก การยกโคกเพื่อระบายน้ำออกเมื่อฝนตกหรือเวลารดน้ำจะได้ไม่ท่วมขังและการถ่ายเทอากาศดีขึ้นเพราะเป็นดินเหนียว
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง จึงจำเป็นต้องมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างเพื่อไม่ให้ทุเรียนได้รับแสงมากจนเกินไป ชาวสวนส่วนใหญ่เลือกปลูกต้นกล้วยเพราะว่าต้นกล้วยให้เหมาะที่สุดที่จะใช้เป็นไม้บังร่มเงาชั่วคราว
พอน้องป้องรดน้ำต้นไม้เสร็จเรียบร้อย เราค่อยๆเดินกลับมาที่เรือนไทยหลังใหญ่ นั่งคุยกันใต้เรือนไม้หลังใหญ่เพื่อรอคุณอาอดิสรณ์
 “อ้าว เรานัดกันไว้ 11 โมงไม่ใช่เหรอ” คุณอาอดิสรณ์พูดพลางหัวเราะในตอนที่เราเจอกันครั้งแรก พวกเรายกมือไหว้สวัสดีและแนะนำตัว
ผม พี่พาฝัน และอาหนุ่ม พวกเราสร้างวงสนทนาย่อยๆด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศการพูดคุยสบายๆ เสียงหัวเราะและความเป็นกันเองตัดกับลมร้อนและกลิ่นอายของสวนทุเรียนท่ามกลางสังคมเมืองใหญ่
 คุณอาเริ่มเล่าว่า ก่อนหน้านี้ในจังหวัดนนทบุรีไม่เคยมีการสำรวจพันธุ์ทุเรียนอย่างจริงจังมาก่อน แม้ว่าหลังจากน้ำท่วมแล้วก็ยังไม่ค่อยมีคนสนใจ
 “ก่อนน้ำท่วมปี 54 เรามีสายพันธุ์ทุเรียนทั้งหมด 100 สายพันธุ์ที่ไม่มีใครสนใจ ทางเราเริ่มสำรวจและลงจีพีเอสไว้ทุกต้น เก็บภาพเอาไว้ทุกต้น และก็ให้ความสำคัญว่า ทำอย่างไรจึงจะอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนเหล่านี้ไว้”
 “แล้วพอหลังจากน้ำท่วมเราก็ทำกิ่งใหม่เพิ่มอีก 2 คันรถ พวกเราขับลุยน้ำไปชุมพรเพื่อเพาะต้นทุเรียนที่นั่น ”
 สุดท้าย ได้พันธุ์ทุเรียนมา 46 สายพันธุ์ มีเพาะไว้ 8,000 กิ่ง
 สลับกลับมาหลังน้ำท่วมใหม่ๆ ทางภาครัฐได้ให้เงินช่วยเหลือเกษตกรที่ประสบภัย ผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมจะได้รับค่าเยียวยาจากจำนวนเงิน 5,098 บาทตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีอนุมติให้กระทรวงเกษตร จำนวนเงินที่น้อยและไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่ายเสียหาย ทำให้ชาวบ้านออกมาประท้วงในส่วนของการที่ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ทางชาวสวนทุเรียนให้เหตุผลว่า มีความเสียหายและค่าเสียโอกาสต่างๆ  ต่อไร่นั้นสูง จึงออกมาเรียกร้องให้ขอรับเงินเพิ่มเติมพื่อบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
วันนี้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้รับเงินกันเรียบร้อยแล้ว  
วันหนึ่งรายทีวีข่าวช่อง ไทยทีบีเอส ออกอากาศความสูญเสียของทุเรียนนนท์และสวนตาก้าน  ทำให้ผู้บริหารโรงงานยาสูบสนใจที่จะช่วยเหลือเกษตกร  จึงติดต่อกลับมาทางคุณอาอดิสรณ์และนำโครงการกิ่งพันธุ์ที่ไปเสียบยอดฝากไว้ที่กำลังเพาะอยู่ชุมพรมาเสนอต่อผู้บริหารโรงงานยาสูบ
“ทั้งผมและก็คณะท่านผู้บริหาร เรามีแนวคิดเหมือนกันว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยชาวสวนได้ ผมบอกว่า ถ้าสนับสนุนให้งบเพื่อที่จะนำกิ่งทุเรียนมาแจกฟรีกับชาวบ้าน คุณจะตกลงไหม”
ผู้บริหารโรงงานยาสูบตอบตกลง
เมื่อได้งบประมาณมาให้พี่น้องชาวสวนทุเรียนกว่า 8,000 กิ่ง คุณอาอดิสรณ์จึงจัดอบรมสัมมนาก่อนแจก และเริ่มจัดทำโรงเรือนอนุบาลทุเรียน รวมไปถึงสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรีที่สร้างจากไม้ทุเรียน
“แล้วโครงการก่อนน้ำท่วม คุณอาเอางบประมาณจากไหนเหรอครับ” ผมถาม
คุณอายิ้ม
“เราก็เอางบประมาณจากตัวเราเองนี่แหละ”
3.
คุณอามองดูสวนทุเรียนอย่างพินิจพิเคราะห์ จริงๆแล้วเราสามารถแบ่งยุคสมัยของทุเรียนนนท์ได้ หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในแต่ละครั้ง และทุกๆครั้งที่ต้นทุเรียนเกิดขึ้นมาใหม่ได้ ก็เพราะจากความตั้งใจของเกษตกรนนทบุรี
ไม่รักจริง คงทิ้งไปนานแล้ว
“เพราะถ้าเรามองจากทางภาครัฐเนี่ย ส่วนใหญ่ทางนโยบายของภาครัฐจะเน้นในส่วนของการใช้งบประมาณ แต่ไม่หวังผลสัมฤทธิ์ และมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
“สิ่งไหนที่ทำแล้วสัมฤทธิ์ผล ผมว่า ไม่มี”
ช่วงแรกๆ ชาวสวนเริ่มปลูกทุเรียนกันจากกิ่งพันธุ์ที่ได้รับแจกจากโครงการที่โรงงานยาสูบสนับสนุนกิ่งพันธุ์ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี อีกโครงการเป็นโครงการทุเรียนกลับบ้านของกรมวิชาการที่จัดทำกิ่งพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดนนทบุรีถวายสมเด็จพระเทพรัตน์ฯราชสุดา
ทางศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี สถาบันวิจัยพืชสวน เข้าไปเก็บกู้ยอดพันธุ์ทุเรียนในพื้นที่น้ำท่วมก่อนที่ต้นทุเรียนจะล้มตาย เพื่อมาทำการเสียบยอดผลิตต้นพันธุ์ ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อแจกให้เกษตรกรสวนทุเรียน
จากข่าว iQNewsAlert เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2555 เคยได้นำเสนอข่าวไว้ว่า
“สำหรับกระบวนการผลิตต้นพันธุ์และเพาะปลูก เริ่มจากการคัดเลือกตัดยอดพันธุ์ที่สมบูรณ์และแข็งแรงปราศจากโรค แล้วนำยอดพันธุ์ดีมาเสียบกับต้นตอทุเรียนแล้วนำไปอบในกระโจม โดยใช้เวลา 20-30 วัน จากนั้นย้ายออกจากกระโจมไปใส่ในถุงใหญ่เลี้ยงดูไว้ประมาณ 6-7 เดือน ต้นทุเรียนจะแข็งแรงอยู่ในสภาพพร้อมส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ หลังจากที่เกษตรกรนำไปปลูกแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมเข้าไปดูแลติดตามความคืบหน้าด้วย”
  บางครั้งดี บางครั้งก็ไม่ดี
 “มันกลายเป็นว่าเป็นการแย่งกันรับผิดชอบทางด้านผลประโยชน์” คุณอาอดิสรณ์พูดด้วยสีหน้าจริงจัง
ทั้งผมและพี่พาฝันต่างนิ่งกันไปชั่วครู่ พวกเราต่างแปลกใจกับสิ่งที่เราเพิ่งได้ยิน
“แต่ไม่เคยมีใครมองเลยว่า เกษตรกรเมื่อได้รับไปแล้วจะสามารถจัดการปลูกต้นทุเรียนขึ้นได้หรือเปล่า เพราะก่อนที่จะดำเนินการแจกต้นทุกเรียน หลายๆครั้งไม่เคยมีการตรวจสอบก่อนว่า พื้นที่ไหนสามารถปลูกได้ สาเหตุส่วนใหญ่คือการปลูกทุเรียนต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหรือไม่เอื้ออำนวย การที่จะสามารถปลูกต้นทุเรียนหลังจากน้ำท่วมได้เนี่ย ต้องมีการปรับสภาพของดินเสียก่อน”
“ ไม่ใช่พื้นที่ไหนอยากได้ ยกมือขึ้นมาแล้วเราก็จะแจกให้ สุดท้ายแล้วการใช้ผลลัพธ์และงบประมาณมันก็จะต่างกัน การที่เราตรวจสอบก่อนเราจะพบว่าเช่นพื้นที่นี้เราจะสามารถแจกได้หรือไม่ได้ บางเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมืองหมดแล้ว คุณก็ไม่น่าจะแจก เพราะบางทีมันก็ต้องติดตามผลกันบ้าง ไม่อย่างงั้นปลูกแล้วปลูกอีกมันก็ตายอยู่เหมือนเดิม”
ข้อมูลจากมติชนในเทคโนโลยีชาวบ้านบอกว่า การจัดส่งพันธุ์ทุเรียนให้กับเกตรกรชาวสวนนนทบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 25,000 ต้น ซึ่งสามารถปลูกทดแทนได้ประมาณ 1,000 ไร่ โดยในวันที่ 28 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา ทางกรมวิชาการเกษตรส่งมอบพันธุ์ “ทุเรียนนนท์” คืนสู่แหล่งปลูกกว่า 31 พันธุ์
“ไม่มีเลยทั้งการติดตามผลสัมฤทธิ์หลังจากแจกกิ่งทุเรียนไปแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าไอ้กิ่งนั้นมันไปอยู่ที่ไหน มันไม่มีการขึ้นทะเบียน ไม่มีการตวรจสอบ สมมติว่าผมเอามา 100 กิ่ง คุณก็ไม่มีทางรู้เลยว่าผมเอากิ่งพวกนั้นไปทำอะไร”
“คืออย่าง กำไรจากกิ่งที่เขาแจกให้ประชาชนฟรีๆเนี่ย มันกลายเป็นของที่มีมูลค่าประมาณ 200% คือ ทุนต่อต้นที่ไปซื้อเขามาแจกประชาชนเนี่ยมันราคา ประมาณ 35 บาท แต่งบที่เขาเบิกไปมันราคา 70 บาท ก็เลยกลายเป็นว่า ยิ่งตายเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะมันทำให้เขาแจกเยอะขึ้น” คุณลงอดิสรณ์อมยิ้ม ไม่พูดอะไรต่อ และเว้นช่องว่างของความเงียบกลายเป็นคำตอบของตัวมันเอง
อย่างที่บอก ตอนนี้ไม่คาดหวังอะไรกับหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว
“แล้วอย่างปัญหาน้ำเค็ม ตอนนั้นน้ำกำลังเค็มน้ำเค็มมาก ผมวัดแล้วแจ้งผ่านทางภาครัฐ เชื่อมั้ยครับไม่มีหน่วยงานไหนรู้เลยว่าน้ำเค็ม มีอบต.ของผมนี่แหละครับที่ผมโทรไปบอก ภาครัฐว่าจำเป็นต้องของบประมาณซื้อเครื่องวัดซัก 2 เครื่อง เพื่อที่เราจะได้วัดคุณภาพน้ำแล้วประกาศให้ชาวบ้านทราบ”
 ปัญหาน้ำเค็มตอนนี้ก็ยังไม่มีใครคิดจะมาทำจริงจัง ทั้งการระบายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือน ทั้งการตรวจวัดคุณภาพน้ำ
ตอนนี้คุณอาอดิสรณ์และเพื่อนๆชาวสวนทุเรียน เริ่มก่อตั้งสมาคมชาวสวนทุเรียน เพื่อที่จะดำเนินการในส่วนของภาคประชาชน ทางตัวสมาคมเองยังไม่เปิดเผยสู่สาธารณะมากเสียเท่าไหร่ แต่คุณอาอดิสรณ์บอกว่า ถือว่ากลุ่มสมาคมเป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรง และมีอะไรหลายๆอย่างที่ตอนนี้ต้องรีบเร่งดำเนินการ
4.
ผมได้กลิ่นละอองน้ำจากทางด้านนอกของอาคารเรือนไทย ฝนจากฟ้าค่อยๆโปรยอย่างโรยแรงและอ่อนโยน แต่สายตาของคุณอาอดิสรณ์ยังคงมุ่งมั่น เรื่องราวของทุเรียนนนท์กำลังดำเนินต่อไป
หลายๆคนคิดเหมือนกันเลยว่า หลังน้ำท่วม อะไรๆก็จะค่อยๆดีขึ้น
“จริงๆหลังจากน้ำท่วมมา มันก็มีปัญหาเยอะแยะเลยนะ ” คุณอดิสรณ์พูด
 “ตอนศูนย์การเรียนรู้เแจกกิ่งให้ชาวบ้านไป 7,000 กิ่ง แต่พอลงไปในสวน ตอนนี้เหลืออยู่สวนละไม่เกินต้น เพราะว่ามักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็ม”
“ปัญหาน้ำเค็มตอนเดือนมกราคม ทางเราวัดแล้วบันทึกผลอยู่ตลอด มันจะมีค่าอยู่ในช่วงประมาณ 0.6 กับ 0.7 มองดูแล้วมันไม่เท่าไหร่นะ แต่ต้นทุเรียนก็ตายเหมือนกัน ช่วงที่เค็มที่สุดอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม ประมาณนั้นน้ำเค็มถึง 3.5”
ซึ่งโดยปกติแล้ว การตรวจวัดความเค็มจะเป็นการตรวจวัดปริมาณเกลือที่ละลายน้ำที่พบในน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย โดยมีหน่วยเป็นส่วนในหนึ่งพันส่วน (ppt ย่อมาจาก part per thousand) ความเค็มของน้ำจืดต้องมีค่าไม่เกิน 0.5 ppt ส่วนน้ำกร่อยมีค่าในช่วง 0.5 - 25 ppt เพราะฉะนั้นค่าที่วัดได้ถึง 3.5 จึงมีความเค็มสูงมาก
“เดือนมีนา สวนทุกสวนมีความร้อนสูงมาก แค่เวลารดน้ำในโรงอนุบาลกิ่งพันธุ์เนี่ย เรายังเอาน้ำปะปารดเลย ”
 “เราเสนอทางจังหวัดนะ ให้มีตัวแทนเกษตกรออยู่ที่ต้นปลายน้ำ พอน้ำมาก็วัดไว้ แล้วค่อยแจ้งกับหน่วยงานติดต่อประสานทางประชาสัมพันธ์ให้คนทราบอย่างทั่วถึง ให้เขาประชาสัมพันธ์ว่าตอนไหนควรเปิดน้ำเข้าสวน ตอนไหนควรปิดน้ำเข้าสวน เพราะถ้าหากเป็นของภาคประชาชนอย่างเดียว เวลาพวกเราทำกันเองก็จะมีเป็นกลุ่มๆสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ส่วนคนที่อยู่ไกลๆเนี่ย ไม่มีทางรู้เลยว่าน้ำเค็มไม่เค็ม พอปล่อยน้ำเข้าสวน มันก็ทำให้ต้นทุเรียนตาย”
 “อย่างวันก่อนผมไปสระบุรีมา น้ำจากคลองระพีพัฒน์เป็นน้ำดินแดงเลย มีน้ำเยอะมีน้ำมาก แต่ทางฝั่งราบลุ่มเจ้าพระยาไม่มีน้ำแบบนี้ ปัญหาคือเขาไม่ปล่อยน้ำลงลุ่มเจ้าพระยา เพราะว่าพื้นที่หลังจากเขื่อนชัยนาทลงมาไม่ได้แก้ปัญหาในส่วนนี้ เลยทำให้ลุ่มเจ้าพระยาเจอแต่น้ำเค็มที่ขึ้นมาจากทะเล ปัจจุบันก็ยังเค็มอยู่”
จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแม่น้ำไหลผ่าน แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ 3 ใน 4 ของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมถึง มีคูคลองขนาดต่าง ๆ เชื่อมโยงกันหลายสายเหมือนใยแมงมุม มีการทำเรือกสวนไร่นา และฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ 1 ใน 3 ของจังหวัด คือพื้นที่ในเขตเทศบาลนครนนทบุรีและเทศบาลนครปากเกร็ด เป็นเขตเมืองมีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น
เดิมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนนทบุรี  มีความคดเคี้ยวมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณบ้านตลาดขวัญ หน้าเมืองนนทบุรีเก่า  แม่น้ำเจ้าพระยาจะไหลแยกไปทางทิศตะวันตก ไปตามคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม  ผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ แล้ววกลงใต้ ผ่านอำเภอบางกรวย  มาออกตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม 
 “คือทั้งน้ำเค็มดินเปรี้ยว ทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้เลยนะสำหรับคนปลูกทุเรียน ทุเรียนต้องใช้ค่าน้ำที่เป็นกลาง”
ค่าความเค็มจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณหยาดน้ำฟ้า หรือบริเวณรอยต่อระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืด เช่น บริเวณปากแม่น้ำ ปริมาณของเกลือในน้ำเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ระบุสิ่งมีชีวิตชนิดในบริเวณแหล่งน้ำนั้นได้อีกด้วย
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตรในประเทศไทย สัมพันธ์กับปริมาณน้ำในประเทศไทย และมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปริมาณน้ำลดลงอีก (ประมาณ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์)
 “ผมเคยไปบรรยายครั้งนึงที่ปากเกร็ด ไปบรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยนี่แหละ ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ เพราะบางทีงานวิจัยส่วนใหญ่ต้องแปลออกมาเป็นภาษาพูด ที่ทำให้คนอื่นๆเข้าใจได้ง่าย”
“ปัญหาอีกส่วนหนึ่งของคนนนท์ก็คือ ถ้าเรายังทำสวนแบบโบราณอยู่ แบบทำไปเรื่อยๆเนี่ย มันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ ลองนับดูสิ ตั้งแต่ปี 54 มา ตอนนี้ ปี 57 ปลูกปีละรอบ  ปลูกมาทั้งหมด 3 รอบ ตายทุกรอบ”
“ แม้แต่เราเองก็ไม่ประมาทเหมือนกัน สภาพอากาศมันเปลี่ยนแปลง น้ำเองก็เปลี่ยนแปลงเพราะตอนนี้น้ำกลายเป็นน้ำเน่าเป็นน้ำผงซักฟอก น้ำสบู่เสียมากกว่า สภาพแวดล้อมปั่นป่วนไปหมดแล้ว”
 
5.
 ห่างจากสวนของคุณอาอดิสรณ์ไปประมาณ 800 เมตร เราก็จะพบกับถนนราชพฤกษ์ เป็นถนน 10 เลนที่เชื่อมไปถึงสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า ที่มีแต่รถยนต์ผ่านไปผ่านมาอย่างพลุกพล่านและมีหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่ขึ้นเรียงรายเป็นทิวแถว
 แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า สวนทุเรียนอยู่ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้
 ทำไมถึงไม่คิดเลิก
 ผมถามคุณอาอดิสรณ์อย่างด้วยความสงสัย เน้นคำ เพราะต้องการอยากทราบจริงๆว่า ในเมื่อสิ่งต่างๆเปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้ ทำไมสวนตาก้านถึงไม่เคยมีความคิดที่จะล้มเลิกความตั้งใจต่อสวนทุเรียนเลย
 คุณอาอดิสรณ์ยิ้ม ยิ้มราวกับว่ามันเป็นคำถามที่ไม่ยากเลยสำหรับเขา
 “เราผูกพัน พูดกันง่ายๆอย่างงี้ดีกว่า”
“จริงๆก็คือ เราไม่ได้มองทุเรียนว่าเป็นพืชที่สร้างกำไรมากมายให้กับเรา หรือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ สมัยก่อนตอนเรายังเด็กๆ เราก็มีสวนทุเรียน เราโตขึ้นมาพร้อมๆ กันสวนทุเรียน สิ่งที่เราอยากจะทำก็คือปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้มองทุเรียนเป็นมากกว่าแค่ พืชที่สร้างรายได้”
 “แน่นอน ค่านิยมเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่กับคนแก่อายุ 50 – 70 ที่ค่อยๆเข้าหม้อไปทีละคนสองคน”
“สมัยก่อนทุเรียนนนท์ต้องบอกก่อนเลยว่ามีการปลูกฝังกันภายในครัวเรือน สมมติว่าบ้านของเราปลุกต้นทุเรียนไว้ ต้นหนึ่ง เมื่อเวลาออกผล เรามักเลือกเก็บต้นที่ดีที่สุดไว้สำหรับทานกันเองภายในครอบครัว เหลือทาน ค่อยแบ่งปันเพื่อนบ้าน พอมีบ้านอื่นๆ ที่ปลูกทุเรียนเหมือนกันแต่บางอย่างลักษณะยังไม่ค่อยโอเค ลองตัวอย่างเช่น บ้านของเราอร่อยแต่ไม่แข็งแรง แต่ของเพื่อนบ้านเราแข็งแรงแต่ไม่ค่อยอร่อย เราจะเอาต้นทุเรียนมาผสมกัน”
“ถ้าคุณไม่มีความรักในต้นทุเรียน ไม่ได้ปลูกฝังความรักในต้นทุเรียน พอเราจะเริ่มปลูกใหม่ ส่วนใหญ่แล้วก็ปล่อยตาย”
คุณอาอดิสรณ์อมยิ้ม ใช้ช่องว่างของความเงียบแทนคำตอบของตัวมันเองอีกครั้งหนึ่ง แต่คำตอบครั้งนี้ที่ได้รับกลับมา มันมีความงดงามและความลึกซึ้งที่ทั้งตัวผมเองรู้สึกได้
ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมทุเรียนนนท์ถึงไม่หายไปไหน
6.
พวกเราร่ำลาคุณอาอดิสรณ์และสวนทุเรียนตาก้านเสร็จเรียบร้อยเมื่อซักครู่นี้ การเดินทางกลับของเราดูไม่ซับซ้อนยุ่งยากเหมือนเมื่อตอนเข้ามาในสวน
ทุกอย่างดูเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ
ฝนที่ตกปรอยๆลงมาจากฟากฟ้าเริ่มลงเม็ดหนักขึ้นเรื่อยๆ พลางนึกถึงน้องป้องที่รดน้ำต้นทุเรียนที่เพิ่งปลูกใหม่ ผมลองคิดเล่นๆว่า ถ้าหากน้องป้องรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น้องป้องคงไม่ต้องรดน้ำ
เปลี่ยนหน้าที่ให้ฝนทำหน้าที่รดน้ำแทนตัวเองก็ย่อมได้
ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าเราบ้าง ทั้งน้องป้อง คุณอดิสรณ์ และชาวสวนทุเรียนนนท์ทุกคน ต่างทำหน้าที่ของตัวเองเป็นกิจวัตร ทำเป็นหน้าที่ เพราะทุกคนต่างเชื่อในสิ่งๆเดียวกัน
 เหมือนกับที่คุณลุงคนนั้นเคยพูดไว้
 “ฤดูหน้า เดี๋ยวทุเรียนก็หมุนเวียนมาให้ทานกันใหม่ ไม่นานเกินรอหรอก”
                                                                    

Visitors: 505,794