Issue 1 : จับตามอง....ทุเรียนนนท์ปลอม
ในช่วง(เดือนเมษายน-มิถุนายน)เป็นช่วงที่ทุเรียนของแต่ละพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย เริ่มทยอยมีผลผลิตและออกจำหน่ายกันแล้ว นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวสวนทุเรียนหลายสวนจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพสมราคา สร้างความพอใจให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก็ยังพบปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อนที่จังหวัดระยอง โดยผู้ขายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษปรับและจำคุก ทำชาวสวนระยองเสียชื่อไปตามๆกัน ส่วนในจังหวัดนนทบุรีนั้นก็พบผู้แอบอ้างนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาสวมรอยเป็นทุเรียนนนท์ โดยมีการประกาศขายอย่างเปิดเผยทั้งในร้านค้าปลีกและผ่านสื่อออนไลน์ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและอยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ทุเรียนนนท์ที่เหลืออยู่และกฎหมายเอาผิดผู้แอบอ้างที่นำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาสวมรอยเป็นทุเรียนนนท์
วันนี้ทุเรียนนนท์มีผลผลิตจริงหรือ ?
มีจริง แต่มีน้อยมาก เนื่องจาก พื้นที่สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่จะประสบอุทกภัยในปี 2554 โดยสวนทุเรียนนนท์ก่อนปี 2554 มีประมาณ 3,363 ไร่ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,2555 ) ซึ่งเมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังจากสำนักเกษตรจังหวัดนนทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าในปีพ.ศ.2552 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 3,563 ไร่ และพื้นที่ที่ให้ผลทุเรียนมีเพียง 1,775 ไร่ หรือประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น
พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ปี 2552 |
|||||
อำเภอ |
พื้นที่ปลูก (ไร่) |
ผลผลิต |
|||
ให้ผล | ไม่ให้ผล | รวม |
ผลผลิตเฉลี่ย (กก./ไร่) |
ผลผลิตรวม (ตัน) |
|
เมืองนนทบุรี | 974 | 574 | 1,548 | 364 | 355.5 |
บางบัวทอง | 43 | 47 | 90 | 433 | 18.65 |
บางกรวย | 68 | 231 | 299 | 1,745 | 118.68 |
บางใหญ่ | 270 | 101 | 371 | 525 | 141.85 |
ปากเกร็ด | 420 | 705 | 1,125 | 900 | 378 |
ไทรน้อย | 0 | 130 | 130 | 0 | 0 |
รวม | 1,775 | 1,788 | 3,563 | 570 | 1,012.68 |
ที่มา : พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ปี 2552 http://www.nonthaburi.doae.go.th/durian_02.html
แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเหลือสวนทุเรียนนนท์ที่ไม่โดนน้ำท่วมอยู่ประมาณร้อยละ 1.42 ได้แก่ สวนใน ตำบล บางรักน้อย เขตอำเภอเมือง ซึ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีประมาณ 16 ไร่ และ ที่ ตำบล ราษฎร์นิยม อำเภอ ไทรน้อยมีเหลืออีกประมาณ 32 ไร่ ซึ่งเป็นต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่และไม่โตพอที่จะให้ผลผลิตได้ ส่วนในเขตเทศบาลเมืองนนทบุรีมีเหลือเพียงไม่กี่รายและเป็นทุเรียนต้นสอนเป็น (โตพอที่จะให้ผลผลิตได้ แต่มีไม่มาก)
อย่างไรก็ตามอาจยังมีสวนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการ หรืออาจเป็นเพราะไม่ต้องการ รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานต่างๆ แต่ข้อมูลการเสียภาษีพื้นที่เกษตรในเขตเทศบาลเมืองนนทบุรี สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกี่สวนที่ให้ผลผลิต ซึ่งข้อมูลสวนที่เหลืออยู่สามารถสืบค้นได้จากแหล่งข้อมูลของเทศบาลเมืองนนทบุรีหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้มีทั้งข้อมูลการเสียภาษีที่ดินและภาพถ่ายสวนเพื่อยืนยันการมีอยู่จริง นอกจากนี้ยังมีสวนที่ยังไม่ได้ถูกรับรองจากแหล่งข้อมูลใดๆ ของหน่วยงานในจังหวัดนนทบุรี จึงทำให้มีผู้แอบอ้างจำหน่ายได้อย่างเปิดเผย
หากนำทุเรียนจังหวัดอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนนนท์ ผิดกฎหมายหรือไม่ ?
ผิด เนื่องจาก ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์ได้ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทุเรียนนนท์ ไว้ในทะเบียนเลขที่ สช 55100042 หากตรวจสอบพบว่า ผู้ใดนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาจำหน่ายแต่มีการแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนนนท์แท้ โดยประกาศขายทางตรงหรือมีการโฆษณาทางผ่านสื่อออนไลน์,สื่อโทรทัศน์ และหาผลประโยชน์จากชื่อเสียงของทุเรียนนท์ ทำให้คนจำนวนมากหลงเชื่อและสำคัญผิดในคุณภาพของทุเรียนนนท์ สามารถดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจาก เข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (มาตรา ๒๗ ) ,หมวด ๔ การใช้และการสั่งระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยหรือ ตราจีไอ คืออะไร?
ตราสัญลักษณ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว หรือผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งช้ทางภูมิศาสตร์นี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและมิให้สาธารณะชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนใหญ่สินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์หรือชื่อสัญลักษณ์ที่ใช้ประกอบกับสินค้าเพื่อแสดง ให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบถึงลักษณะสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ มีคุณภาพชื่อเสียงหรือคุณสมบัติพิเศษ
พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (มาตรา ๒๗ ) กล่าวไว้ว่าอย่างไร? ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษอย่างไร ?
ตามมาตรา ๒๗ การกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ
(๑) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อแสดงหรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่มิได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว
(๒) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยประการใดที่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าและในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่น การกระทำดังกล่าวตามวรรคหนึ่งถ้าได้กระทำก่อนวันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
ดังนั้น หากผู้บริโภคคนใดต้องการที่จะซื้อทุเรียนนนท์แท้ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และ ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขายและแหล่งผลิตนั้น เนื่องจาก หากผู้บริโภคไม่ได้คุ้นเคยกับรสชาติ ลักษณะ สี กลิ่น ของทุเรียนนนท์จะไม่สามารถแยกความแตกต่างของทุเรียนนนท์กับทุเรียนของจังหวัดอื่นได้และอาจตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้างเหล่านั้นโดยสมัครใจ....
ท่านสามารถเข้าไปดูประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของทุเรียนนนท์ ได้ที่นี่