Issue 1 : จับตามอง....ทุเรียนนนท์ปลอม

       ในช่วง(เดือนเมษายน-มิถุนายน)เป็นช่วงที่ทุเรียนของแต่ละพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย เริ่มทยอยมีผลผลิตและออกจำหน่ายกันแล้ว นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวสวนทุเรียนหลายสวนจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพสมราคา สร้างความพอใจให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ปีนี้ก็ยังพบปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อนที่จังหวัดระยอง โดยผู้ขายกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เข้าข่ายหลอกลวง มีโทษปรับและจำคุก ทำชาวสวนระยองเสียชื่อไปตามๆกัน  ส่วนในจังหวัดนนทบุรีนั้นก็พบผู้แอบอ้างนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาสวมรอยเป็นทุเรียนนนท์ โดยมีการประกาศขายอย่างเปิดเผยทั้งในร้านค้าปลีกและผ่านสื่อออนไลน์  เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและอยากให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ทุเรียนนนท์ที่เหลืออยู่และกฎหมายเอาผิดผู้แอบอ้างที่นำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาสวมรอยเป็นทุเรียนนนท์

 

วันนี้ทุเรียนนนท์มีผลผลิตจริงหรือ ?

       มีจริง แต่มีน้อยมาก เนื่องจาก  พื้นที่สวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีส่วนใหญ่จะประสบอุทกภัยในปี 2554 โดยสวนทุเรียนนนท์ก่อนปี 2554 มีประมาณ 3,363 ไร่ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,2555 )  ซึ่งเมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังจากสำนักเกษตรจังหวัดนนทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่าในปีพ.ศ.2552 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี จำนวน 3,563 ไร่ และพื้นที่ที่ให้ผลทุเรียนมีเพียง 1,775 ไร่ หรือประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น 

                                     


พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ปี 2552 

อำเภอ

 พื้นที่ปลูก (ไร่)

 ผลผลิต

  ให้ผล ไม่ให้ผล รวม

ผลผลิตเฉลี่ย

(กก./ไร่)

ผลผลิตรวม

 (ตัน)

เมืองนนทบุรี 974 574 1,548 364 355.5
บางบัวทอง 43 47 90 433 18.65
บางกรวย 68 231 299 1,745 118.68
บางใหญ่ 270 101 371 525 141.85
ปากเกร็ด 420 705 1,125 900 378
ไทรน้อย 0 130 130 0 0
รวม 1,775 1,788 3,563 570 1,012.68       

                     ที่มา : พื้นที่ปลูกทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี ปี 2552                                                                             http://www.nonthaburi.doae.go.th/durian_02.html

       แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยเหลือสวนทุเรียนนนท์ที่ไม่โดนน้ำท่วมอยู่ประมาณร้อยละ  1.42  ได้แก่ สวนใน ตำบล บางรักน้อย เขตอำเภอเมือง  ซึ่งเป็นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีประมาณ 16 ไร่ และ ที่ ตำบล ราษฎร์นิยม อำเภอ ไทรน้อยมีเหลืออีกประมาณ 32 ไร่ ซึ่งเป็นต้นทุเรียนที่ปลูกใหม่และไม่โตพอที่จะให้ผลผลิตได้ ส่วนในเขตเทศบาลเมืองนนทบุรีมีเหลือเพียงไม่กี่รายและเป็นทุเรียนต้นสอนเป็น (โตพอที่จะให้ผลผลิตได้ แต่มีไม่มาก) 

      อย่างไรก็ตามอาจยังมีสวนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการ หรืออาจเป็นเพราะไม่ต้องการ รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานต่างๆ  แต่ข้อมูลการเสียภาษีพื้นที่เกษตรในเขตเทศบาลเมืองนนทบุรี สามารถตรวจสอบได้ว่ามีกี่สวนที่ให้ผลผลิต ซึ่งข้อมูลสวนที่เหลืออยู่สามารถสืบค้นได้จากแหล่งข้อมูลของเทศบาลเมืองนนทบุรีหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวนี้มีทั้งข้อมูลการเสียภาษีที่ดินและภาพถ่ายสวนเพื่อยืนยันการมีอยู่จริง นอกจากนี้ยังมีสวนที่ยังไม่ได้ถูกรับรองจากแหล่งข้อมูลใดๆ ของหน่วยงานในจังหวัดนนทบุรี จึงทำให้มีผู้แอบอ้างจำหน่ายได้อย่างเปิดเผย 

        

หากนำทุเรียนจังหวัดอื่นมาแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนนนท์ ผิดกฎหมายหรือไม่ ? 

        ผิด เนื่องจาก ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์ได้ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี  และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี  ดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  ทุเรียนนนท์ ไว้ในทะเบียนเลขที่  สช 55100042 หากตรวจสอบพบว่า ผู้ใดนำทุเรียนจากจังหวัดอื่นมาจำหน่ายแต่มีการแอบอ้างว่าเป็นทุเรียนนนท์แท้ โดยประกาศขายทางตรงหรือมีการโฆษณาทางผ่านสื่อออนไลน์,สื่อโทรทัศน์ และหาผลประโยชน์จากชื่อเสียงของทุเรียนนท์  ทำให้คนจำนวนมากหลงเชื่อและสำคัญผิดในคุณภาพของทุเรียนนนท์  สามารถดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจาก เข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (มาตรา ๒๗ ) ,หมวด ๔  การใช้และการสั่งระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 

        

 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยหรือ ตราจีไอ คืออะไร? 

     ตราสัญลักษณ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว หรือผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับสินค้าสิ่งบ่งช้ทางภูมิศาสตร์นี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและมิให้สาธารณะชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ ส่วนใหญ่สินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์นี้จะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์หรือชื่อสัญลักษณ์ที่ใช้ประกอบกับสินค้าเพื่อแสดง ให้ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคได้ทราบถึงลักษณะสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ มีคุณภาพชื่อเสียงหรือคุณสมบัติพิเศษ 

      พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ (มาตรา ๒๗ ) กล่าวไว้ว่าอย่างไร? ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษอย่างไร ?

       ตามมาตรา ๒๗ การกระทำดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบ

(๑) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อแสดงหรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่มิได้มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ระบุในคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว

(๒) การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยประการใดที่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าและในคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะอื่นของสินค้านั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการค้ารายอื่น การกระทำดังกล่าวตามวรรคหนึ่งถ้าได้กระทำก่อนวันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท  

          ดังนั้น หากผู้บริโภคคนใดต้องการที่จะซื้อทุเรียนนนท์แท้ ควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ และ ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขายและแหล่งผลิตนั้น  เนื่องจาก หากผู้บริโภคไม่ได้คุ้นเคยกับรสชาติ ลักษณะ สี กลิ่น ของทุเรียนนนท์จะไม่สามารถแยกความแตกต่างของทุเรียนนนท์กับทุเรียนของจังหวัดอื่นได้และอาจตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้างเหล่านั้นโดยสมัครใจ....   

 

   ท่านสามารถเข้าไปดูประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของทุเรียนนนท์ ได้ที่นี่   

Visitors: 506,032