ประวัติเฉพาะสายพันธุ์

กบแม่เฒ่า (Kop Maethao)


ชื่อพันธุ์           :  กบแม่เฒ่า

ชื่อวิทยาศาสตร์   :  Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ            :   ทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า เป็นพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดของทุเรียนพันธุ์การะเกด   แหล่งค้นพบเกิดที่ตำบลหน้าวัดสุวรรณาราม  อำเภอบางกอกน้อย  จังหวัดธนบุรี

สถานภาพพันธุ์   : พันธุ์พื้นเมือง(พันธุ์เบา)

ลักษณะประจำพันธุ์   ลักษณะกิ่งไม่เป็นระเบียบใบป้อมกลางใบ สีเขียวแก่  ฐานใบกลมมน  ดอกรูปร่างของดอกตูมกลมรี  ปลายดอกตูมมน   ผลทรงกลมปลายผลป้าน  ความยาวผลปานกลาง  รูปร่างหนามผลโค้งงอหนามปลายผลตรงแหลม หนามรอบขั้วผลเป็นหนามงุ้มเข้า  การสุกของผลช้า   ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ  ชอบน้ำ 

ลักษณะทางการเกษตร  การเจริญเติบโตของต้นโตเร็ว ต้นเตี้ย ผลแบน หัวตัด เปลือกบาง ปลายผลแตกอ้า หนามไม่เป็นระเบียบ หนามยาวพริ้ว โง้ง หนามยิบ แหลม คมมาก  การออกดอกมาก การติดผลมาก  เนื้อหนา สีเนื้อเหลืองอ่อน สีลาน(สีขาวนวล-เหลืองครีม) สีเหลืองเข้มกว่ากบเล็บเหยี่ยว   มีกลิ่นอ่ออน รสชาติของเนื้อหวานมัน  ลักษณะของเนื้อแห้ง  เนื้อละเอียดเป็นครีม หวานมันพอดี ไม่มีเส้นใย   นับว่าเป็นพันธุ์เศรษฐกิจพันธุ์หนึ่งที่ชาวนนทบุรีนิยมปลูก 

 

กบตาขำ


 

ชื่อพันธุ์              กบตาขำ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ              ทุเรียนพันธุ์นี้เป็นทุเรียนที่เพาะจากเมล็ดกบแม่เฒ่า ผู้เพาะคือนายขำ เกิดที่   ตำบลบางล่าง    จังหวัดธนบุรี

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะกิ่งไม่เป็นระเบียบใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม   ฐานใบมน  ดอกรูปร่างของดอกตูมกลมรี ขอบขนาน ปลายดอกตูมแหลม  ผลทรงรูปไข่ แต่ไม่เป็นระเบียบ ความยาวผลปานกลาง  รูปร่างหนามแหลมคม  เปลือกหนา   หนามปลายงุ้มเข้า หนามรอบขั้วผลหนามตรง

ลักษณะทางการเกษตร

การเจริญเติบโตของต้นโตเร็ว เรือนต้นใหญ่ การออกดอกมาก การติดผลปานกลาง  เนื้อหนาปานกลางสีเนื้อเหลืองเข้ม  มีกลิ่นหอมพิเศษ รสชาติของเนื้อหวานมันพอดี  ลักษณะของเนื้อแห้ง  ละเอียด  แต่มีเส้นใย  

 กบชายน้ำ

ชื่อพันธุ์              กบชายน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ    เพาะจากเมล็ดกบแม่เฒ่า แหล่งค้นพบใน     จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์      

ลักษณะกิ่งไม่เป็นระเบียบ ใบรูปไข่ขอบขนาน  ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ดอกรูปร่างของดอกตูมกลมรี  ขอบขนาน ปลายดอกตูมแหลม ผลทรงรูปไข่ แต่ไม่เป็นระเบียบ  ความยาวผลปานกลางรูปร่างหนามแหลมคม เปลือกหนา  หนามปลายงุ้มเข้า หนามรอบขั้วผล หนามตรง

ลักษณะทางการเกษตร  

การเจริญเติบโตของต้นเร็ว การออกดอกมาก  การติดผลปานกลาง เนื้อหนาปานกลาง  สีเนื้อเหลือง มีกลิ่นอ่อน  รสชาติของเนื้อมันพอดี  ลักษณะเนื้อแห้ง ละเอียด ไม่มีใย

ลักษณะเด่นของพันธ์นี้คือ  เป็นพันธุ์ที่ชอบขึ้นใกล้น้ำ  ทนฝนไม่มีอาการไส้ซึม

 

  กบบุญนาค

 ชื่อพันธุ์              กบบุญนาค

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ    เป็นทุเรียนที่เพาะจากเมล็ดกบแม่เฒ่า  ทุเรียนต้นนี้เกิดที่  อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี  ผู้เพาะคือนางพลอย  เมื่อปี พ.ศ. 2460

แหล่งค้นพบใน     จังหวัดธนบุรี  จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์     พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะเรือนต้นใหญ่ กิ่งเป็นระเบียบสาขาดี  ใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม   ฐานใบมน  ดอกรูปร่างของดอกตูมกลมรี ขอบขนาน ปลายดอกตูมแหลม  ผลทรงรูปไข่ แต่ความยาวผลปานกลาง  รูปร่างหนามแหลมคม  เปลือกหนา   ปลายหนามงอเล็กน้อย  

ลักษณะทางการเกษตร

การเจริญเติบโตช้าแต่พอขึ้นต้นโตเร็วมาก   เรือนต้นใหญ่กิ่งก้านสาขาดี  การออกดอกมาก การติดผลปานกลาง ผลสีเขียวเหมือนกบแม่เฒ่า เนื้อหนาปานกลางสีเนื้อเหลืองเข้ม รสชาติของเนื้อหวานมันพอดี  ลักษณะของเนื้อแห้ง  ละเอียด  

 

 

 กบตาท้วม

ชื่อพันธุ์              กบตาท้วม

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ    ทุเรียนพันธุ์กบตาท้วมเกิดจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า   นายท้วมเป็นผู้เพาะบ้านอยู่อำเภอบางกรวย   จังหวัดนนทบุรี

แหล่งค้นพบใน     จังหวัดธนบุรี  จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะเรือนต้นใหญ่ ใบป้อมกลางใบ สีเขียวแก่กว่ากบแม่เฒ่า  ฐานใบกลมมน  ดอกรูปร่างของดอกตูมกลมรี  ปลายดอกตูมมน   ผลทรงกลมปลายยาวผลป้าน  ความยาวผลขนาดปานกลาง  รูปร่างหนามผลโค้งงอหนามปลายผลตรงแหลม หนามรอบขั้วผลเป็นหนามงุ้มเข้า  

ลักษณะทางการเกษตร

การเจริญเติบโตของต้นโตเร็ว  การออกดอกมาก การติดผลมาก  เนื้อหนา สีเนื้อเหลืองนวล  มีกลิ่นอ่อน รสชาติของเนื้อหวานมัน  ลักษณะของเนื้อแห้ง  ละเอียด  เรือนต้นใหญ่สวยงาม   

 

 ทองย้อยฉัตร

ชื่อพันธุ์             ทองย้อยฉัตร

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ   ทุเรียนพันธุ์นี้เกิดจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพันธุ์ทองย้อยเดิม   เพาะโดย นายฉัตร

เป็นผู้เพาะบ้านตำบลบางขุนนนท์  อยู่อำเภอบางกอกน้อย   จังหวัดธนบุรี

แหล่งค้นพบใน     จังหวัดธนบุรี  จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

พันธุ์ทองย้อยฉัตรลักษณะ  ลำต้นตรง  แข็งแรงแต่ทิ้งกิ่ง  ใบบางสีเขียวแก่เป็นมัน ใบใหญ่ยาว  ผลใหญ่ทรงอวดสีผลค่อนข้างเขียว หนามตรงแหลม ขนาดปานกลาง    ก้านขั้วใหญ่แข็งแรง   เนื้อ สีเหลืองเข้ม

ลักษณะทางการเกษตร

เป็นทุเรียนที่มีราคา และรสชาติอร่อย ข้อเสียกิ่งเป็นกิ่งเสียบ  ต้นแก่เกิน 50 ปี  มักไม่ให้ผลทุกปี   และมีผลมากก็จะเป็นเต่าเผา   เนื้อหนา  สีเนื้อเข้มรสหวานมัน

 

ฉัตรสีนาค

ชื่อพันธุ์              ฉัตรสีนาค

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ    ทุเรียนพันธุ์นี้เกิดจากการเพาะเมล็ดทุเรียนพันธุ์ทองย้อยเดิม   เพาะโดย นายถาวรกลั่นขยัน  บ้านอยู่ตำบลบางขุนศรี  อยู่อำเภอบางกอกน้อย   จังหวัดธนบุรี  เมื่อราว พ.ศ. 2460

แหล่งค้นพบใน     จังหวัดธนบุรี  จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์     พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

พันธุ์ฉัตรสีนาคลักษณะ  ลำต้นแข็งแรง  เรือนต้นใหญ่    ใบบางสีเขียวแก่เป็นมัน ใบใหญ่ยาวใบบาง   ผลใหญ่ทรงอวดสีผลค่อนข้างเขียว หนามตรงแหลม ขนาดปานกลาง    ก้านขั้วใหญ่แข็งแรง   เนื้อ สีเหลืองเข้ม

ลักษณะทางการเกษตร

เป็นทุเรียนที่มีราคา และรสชาติอร่อย ข้อเสียกิ่งเป็นกิ่งเสียบ  ต้นแก่เกิน 50 ปี มักไม่ให้ผลทุกปี   และมีผลมากก็จะเป็นเต่าเผา   เนื้อหนา  สีเนื้อเข้มรสหวานมัน

  ฉัตรสีทอง

ชื่อพันธุ์                ฉัตรสีทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ เป็นทุเรียนที่ เพาะจากเม็ดทองย้อย   เดิมชื่อเม็ดในตาสมบุญ  ผู้เพาะคือนายสมบุญ ที่ตำบลบางขุนนนท์    จังหวัดธนบุรี

 แหล่งค้นพบใน     อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์     พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะดอกเป็นรูปทรงกลม  ตรงกลางป่อง  ปลายดอกจะค่อยๆ  เรียวแหลม  ก้านดอกยาวและใหญ่  ลักษณะผลโต  ทรงผลอ้วนป้อม  กลางผลป่องออก  บริเวณขั้วผลบุ๋มลงเล็กน้อย  บริเวณก้นผลย้อยออกมาไม่แหลมซึ่งมีลักษณะเด่น  ตรงจุดศูนย์กลางของก้นบุ๋มลงเป็นหลุมตื้นๆ  มีรอยร่องของเส้นพูมาบรรจบกันที่ศูนย์กลางเห็นได้ชัด ขั้วมีขนาดใหญ่และสั้น  มีความยาวประมาณ  5  เซนติเมตร  รอยต่อระหว่างขั้วและปลิงโป่งออกเห็นได้ชัดเจน  หนามทั่วๆ ไปมีขนาดใหญ่ปานกลางมี  5 - 6  เหลี่ยม  กลางร่องพูมีหนามค่อนข้างใหญ่  ส่วนสันพูมีหนามค่อนข้างเล็กเรียวแหลมอยู่ชิดกันบริเวณก้นมีหนามสั้นและไม่แหลมอยู่ห่างๆ  กัน  เมื่อสุกผลจะมีสีเขียวอมเหลือง  บริเวณร่องพูจะมีสีเหลืองอ่อนปนเขียว  เส้นกลางพู  ผลหนึ่งมี  5  พู  พูขนาดไล่เลี่ยกัน  บางเมล็ดมีลักษณะแบบนเกือบลีบ  เมล็ดสีน้ำตาลแก่  ผิวเมล็ดเรียบ  ตรงสันมีรอยย่นเล็กน้อยเห็นเป็นสีน้ำตาลไหม้  มีเนื้อมาก  สีเหลืองมาก  กลิ่นไม่ฉุน  รสหวานปนมันมากและไม่หวานจัด

 

กำปั่นเดิม(เนื้อขาว)

 

ชื่อพันธุ์              กำปั่นเดิม(เนื้อขาว)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเก่าแก่  เป็นแม่พันธุ์ของทุเรียนกำปั่นทั้งหลาย

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนพุ่มใหญ่ กิ่งงาม  ใบมีลักษณะบางป้อม กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกปลายดอกแหลม   ผลมีรูปร่างทรงป้อม  ก้านสั้นปากปลิงใหญ่       รูปร่างหนามแหลมตรง  ฐานหนามใหญ่  เนื้อขาว  (สีลาน) 

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลางรากมั่นคงแข็งแรง  ไม่โคนหักง่าย  ออกดอกปานกลาง  ติดผลดี แต่งตัวเร็ว ปลูกขึ้นง่าย  บำรุงดี 5 ปี ให้ผล  ควรปลูกลึกพอสมควร  จึงจะไม่ผลัดใบเวลาออกดอก ต้นยิ่งแก่ ยิ่งดี   เนื้อหนาสีขาว เมล็ดลีบ  นับว่าเป็นทุเรียนขาวที่ดีที่สุด  รสชาติหวานมันจัด  

 ชายมะไฟ

 

ชื่อพันธุ์              ชายมะไฟ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ              เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดกำปั่นเนื้อขาว สันนิษฐานว่าในการปลูกครั้งแรกคงจะปลูกชิดต้นมะไฟ   เจ้าของจึงเรียกติดปากว่า “ ชายมะไฟ”  เป็นทุเรียนเก่าแก่ที่มีมานาน   แหล่งค้นพบใน   อำเภอบางกอกน้อย  จังหวัดธนบุรี    จังหวัด นนทบุรี

สถานภาพพันธุ์       พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนเรือนต้นไม่แข็งแรงมาก   ใบมีลักษณะป้อม กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมก้านใบงอ    ดอกปลายดอกแหลม   ผลมีรูปร่างทรงป้อมค่อนข้างยาว    ผลใหญ่  ก้านสั้นแข็งแรง  รูปร่างหนามแหลมตรง ฐานหนามคล้ายกำปั่น เนื้อสีเหลืองจัด   เนื้อแห้งไม่เปียก

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง ออกดอกปานกลาง    เนื้อหนาสีเหลืองจัด  มีน้ำหนักมากถ้าเทียบกับทุเรียนพันธุ์อื่น  ที่มีขนาดเดียวกัน   กลิ่นแรง  รสชาติหวานมันพอดี ลักษณะเนื้อละเอียด ไม่ค่อยดกเป็นทุเรียนพันธุ์หนัก   จากผลิดอกออกผลแก่ราว  6  เดือน

 

 กำปั่นเหลือง(กำปั่นเจ้ากรมเขียน)

 ชื่อพันธุ์             กำปั่นเหลือง(กำปั่นเจ้ากรมเขียน)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดกำปั่นเนื้อขาว เกิดที่วัดเสาวคัณธ์  ตำบลบางยี่ขัน  อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่ากำปั่นเจ้ากรม

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนพุ่มใหญ่ที่ขึ้นง่าย กิ่งตกปลายงอนขึ้นคล้ายกบแม่เฒ่า   ใบมีลักษณะบางป้อม กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกปลายดอกแหลม   ผลมีรูปร่างทรงกลมผลใหญ่  ก้านขั้วใหญ่แข็งแรง    รูปร่างหนามแหลมตรง ฐานหนามใหญ่  เนื้อสีเหลือง

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตขึ้นง่าย   เป็นทุเรียนที่เรือนต้นดี   ออกดอกปานกลางไม่ดก  มักให้ผลใหญ่  เนื้อหนาสีเหลือง มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันพอดี 

 

 

 กำปั่นพวง(Kampan Phuang)

 ชื่อพันธุ์              กำปั่นพวง(Kampan Phuang)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ              เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดกำปั่นเนื้อขาว    

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนพุ่มใหญ่   ใบมีลักษณะบางป้อม กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกปลายดอกแหลม   ผลมีรูปร่างทรงป้อม  ก้านสั้นปากปลิงใหญ่     ออกลูกติดป็นพวง  รูปร่างหนามเล็กแหลมตรง  เนื้อสีเหลือง

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง ออกดอกปานกลาง มักให้ผลเป็นพวงขนาดผลไม่ใหญ่มาก   เนื้อหนาสีเหลือง มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันพอดี ลักษณะเนื้อละเอียดเป็นทุเรียนที่น่าปลูกพันธุ์หนึ่ง

 

 

กำปั่นตาแพ

ชื่อพันธุ์              กำปั่นตาแพ

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดกำปั่นเนื้อขาว เกิดที่  ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  โดยนายแพ  เป็นผู้เพาะ หลังน้ำท่วม พ.ศ. 2460 แต่มาแพร่หลายเมื่อหลังน้ำท่วมปี พ.ศ. 2485 

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนพุ่มใหญ่ที่ขึ้นง่าย      ใบมีลักษณะบางป้อมกว่ากำปั่นเนื้อขาว  กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกปลายดอกแหลม   ผลมีรูปร่างทรงป้อม  ก้านขั้วสั้น    ปากปลิงใหญ่    รูปร่างหนามแหลมเล็กตรง   เนื้อสีเหลืองนวล

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตขึ้นง่าย   เป็นทุเรียนที่เรือนต้นพอใช้ได้  ออกดอกมาก  มักให้ผลผลิตดี  เนื้อสีเหลืองนวล มีกลิ่นแรง รสชาติหวานมันพอดี

 

 

 หมอนทอง

 ชื่อพันธุ์              หมอนทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดกำปั่นเหลือง(กำปั่นเจ้ากรมเขียน) เกิดที่  ตำบลบางรักน้อย อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี  โดยนายเทียม  เป็นผู้เพาะ   ผู้เผยแพร่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองให้ดังไปทั่วประเทศ  คือ      ร้อยเอก  นายแพทย์  ทองคำ  ระงับภัย

สถานภาพพันธุ์     พันธุ์พื้นเมืองนนท์

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนพุ่มใหญ่ที่ขึ้นง่าย  ใบมีลักษณะบาง กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ดอกปลายดอกแหลม     ก้านขั้วใหญ่แข็งแรง    รูปร่างหนามแหลมตรง ฐานหนามใหญ่     ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทรงผลค่อนข้างยาวมีบ่าผล ปลายผลแหลม พูมักไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกหนามชนิดนี้ว่า เขี้ยวงู ก้านผลใหญ่แข็งแรง ช่วงกลางก้านผลจนถึงปากปลิงจะอ้วนใหญ่เป็นทรงกระบอก เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตขึ้นง่าย   เป็นทุเรียนที่เรือนต้นดี   ออกดอกมากดกทุกปี  มักให้ผลใหญ่  เนื้อหนาสีเหลือง มีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมันพอดีเป็นที่นิยมทั่วไปเป็นทุเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนนทบุรี 

 

 

ก้านยาว

ชื่อพันธุ์              ก้านยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดทุเรียนพันธุ์ทองสุก   ทุเรียนพันธุ์นี้เกิดที่ตำบลสามเสนใน  พระนคร  ผู้เพาะชื่อนายรอด  บ้านอยู่คลองวัดสัก ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี  แต่ไปได้ภรรยาทำสวนในคลองสามเสนใน   พระนคร    

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนเรือนต้นไม่ดี  ทิ้งกิ่ง  เป็นทุเรียนที่อ่อนแอที่สุด   ใบมีลักษณะเขียว เนื้อใบละเอียดเป็นมัน   กลางใบปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม    ผลมีรูปร่างทรงกลม  ขนาดกลาง  ก้านขั้วยาวมากกว่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ      รูปร่างหนามสั้นเล็กถี่  ละเอียดแหลมตรง  เนื้อสีเหลือง

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง ออกดอกปานกลาง มักให้ผลน้อย   เนื้อละเอียดมาก    หนาปานกลางสีเหลือง มีกลิ่นอ่อนไม่ฉุน รสชาติมันมากกว่าหวาน ลักษณะเนื้อละเอียด เมล็ดใหญ่มาก  เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก  มักเป็นโรคกิ่งตาย  กิ่งแตก  โรคใบเกรียม  เป็นผลกิ่งไหนมักจะเป็นอยู่กิ่งนั้น  จนกิ่งตายจึงจะย้ายไป เป็นผลกิ่งอื่นๆต่อไป  ออกลูกเป็นพวงๆละ 3-5 ผล คุณภาพดี  ราคาสูงที่สุด

 

 ก้านยาวเหลืองประเสริฐ( ก้านยาวลูกใหญ่)

ชื่อพันธุ์           ก้านยาวเหลืองประเสริฐ( ก้านยาวลูกใหญ่)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ        เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดทุเรียนพันธุ์ก้านยาว   ทุเรียนพันธุ์นี้ผู้เพาะชื่อนายเย็น   บ้านอยู่คลองวัดสัก ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี เมื่อหลังน้ำท่วมปี พ.ศ.2460แพร่หลายหลังน้ำท่วม พ.ศ. 2485   

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนเรือนต้นดี ไม่ทิ้งกิ่ง เหมือนก้านยาว   ใบมีลักษณะเขียว เนื้อใบละเอียดเป็นมัน แต่ป้อมกว่าก้านยาว ใบห่อขึ้น  กลางใบปลายใบเรียวแหลม    ผลมีรูปร่างทรงหวด  ขนาดใหญ่สีเขียว    ก้านขั้วยาวมาก      รูปร่างหนามสั้นเล็กถี่  ละเอียด  เนื้อสีเหลืองจัดกว่าก้านยาว

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง ออกดอกปานกลาง มักให้ผลน้อย   เนื้อละเอียดมาก    หนาปานกลางสีเหลืองจัด มีกลิ่นอ่อนไม่ฉุน รสชาติมันมากกว่าหวาน ลักษณะเนื้อละเอียด เมล็ดใหญ่มาก  เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก  คุณภาพดี  ราคาสูงที่สุด

 ก้านยาวบุญยัง(ก้านยาวตายัง)

ชื่อพันธุ์             ก้านยาวบุญยัง(ก้านยาวตายัง)

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

 ประวัติ             เป็นทุเรียนเพาะจากเมล็ดทุเรียนพันธุ์ก้านยาว   ทุเรียนพันธุ์นี้ผู้เพาะชื่อนายบุญยัง   บ้านอยู่ตำบลบางขนุน    อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี เมื่อหลังน้ำท่วมปี พ.ศ.2460  ในตอนแรกผู้ซื้อตั้งชื่อให้ว่า “กบบุญยัง”แพร่หลายหลังน้ำท่วม พ.ศ. 2485   

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์ 

เป็นทุเรียนเรือนต้นดี แข็งแรง  เมื่อเทียบกับพันธุ์ก้านยาว   ใบมีลักษณะเขียว เกลี้ยง หางใบยาวคล้ายกำปั่น   กลางใบปลายใบเรียวแหลม    ผลมีรูปร่างทรงกลม ขนาดใหญ่สีเขียว  ไม่แบ่งเป็นพู  ก้านขั้วยาวแต่สั้นกว่าก้านยาวก      รูปร่างหนามเล็กถี่  ละเอียด  เนื้อสีเหลือง

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง ออกดอกปานกลาง มักให้ผลน้อย   เนื้อละเอียดมาก    หนาปานกลางสีเหลือง มีกลิ่นอ่อนไม่ฉุน รสชาติมันมากกว่าหวาน ลักษณะเนื้อละเอียด เมล็ดใหญ่มาก  เป็นทุเรียนพันธุ์หนัก  คุณภาพดี  

 

 

ลวงทอง

ชื่อพันธุ์                ลวงทองหรืออีลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์       Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ              เป็นทุเรียนเก่าพันธุ์หนึ่ง  การที่ได้ชื่อว่าลวง   ก็เพราะว่าการเป็นผลในปีแรกๆภายในจะไม่มีเนื้อ เป็นทุเรียนพันธุ์เบามีมานานแล้ว  และมีปลูกกันทุกสวนใน   จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์        พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ทรงพุ่มโปร่งค่อนข้างกว้างและไม่สูงนัก  ลำต้นมักไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน  การแตกของกิ่งไม่ค่อยเป็นระเบียบ  บางต้นโคนเดียวอาจจะมีสองลำต้น  ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาวและมีขนาดใหญ่  ส่วนกว้างประมาณ  6.5  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  16  เซนติเมตร  ขอบใบเรียว  ฐานใบแหลมป้านปลายใบแหลม  แผ่นใบค่อนข้างราบแต่ไม่สม่ำเสมอ  คือจะเห็นรอยนูนทั่วไปบนผิวใบ  ด้านหลังใบ  ด้านท้องใบสีน้ำตาลอ่อนอมน้ำเงิน  หลังใบเขียวแก่เป็นมัน  รูปทรงของดอกค่อนข้างยาวหัวท้ายมน  โคนดอกจะป้านมากแล้วหักเกือบเป็นมุมฉากตอนใกล้ก้านดอกและก้านดอกจะเรียว  ผลค่อนข้างยาว  พูไม่สม่ำเสมอเบี้ยวงอเห็นพูชัดเจน  มักจะมีพูหลอก  หนามมีขนาดกลาง  ฐานหนามค่อนข้างใหญ่  ปลายหนามแหลม  ผลมีสีเขียวหรือน้ำตาล  ก้านผลมีขนาดยาวปานกลาง  เปลือกผลบาง  ในแต่ละพูมี  1-3  เมล็ด  เมล็ดขนาดเล็กหรือลีบ  เนื้อมีลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างหยาบสีเหลืองปานกลาง  รสหวานแหลมไม่มัน  กลิ่นฉุนเล็กน้อย

ลักษณะทางการเกษตร

           เป็นทุเรียนที่ปลูกง่ายให้ผลเร็ว   3 ปีก็ให้ผลได้  ในปีที่มีฝนตกชุกในเวลาที่ทุเรียนจวนแก่ก็จะเป็นได้ทั้งแกนและไส้ซึม

 

ย่ำมะหวาด

 

ชื่อพันธุ์              ย่ำมะหวาด

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ              เป็นทุเรียนเก่าพันธุ์หนึ่ง  ที่เพาะจากเมล็ดลวง โดยนายสอน  โชติ  ที่ตำบลบางล่าง  บางคอแหลม   จังหวัดธนบุรี

สถานภาพพันธุ์    พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์   

เรือนต้นดี   การเรียงกิ่งเป็นระเบียบเหยียดตรง  ใบรูปไข่ขอบขนาน  ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ใบเหมือนล่วงแต่เล็กกว่าดอกรูปร่างของดอกตูมรี ปลายดอกตูมแหลม  ผลทรงรูปไข่  แต่ไม่เป็นระเบียบ ความยาวผลปานกลาง รูปร่างหนามแหลมคม เปลือกหนา หนามปลายงุ้มเข้า หนามรอบขั้วผลหนามตรง

ลักษณะทางการเกษตร

การเจริญเติบโตของต้นปานกลาง  การออกดอก  การติดผล ปานกลาง ลักษณะผลไม่น่าดู   ลักษณะไม่คงที่  เนื้อหนา  สีเนื้อลานเกือบเหลือง  มีกลิ่นอ่อน  รสชาติหอมหวานมันเป็นพิเศษมากกว่าหวาน  ลักษณะของเนื้อแห้ง  ละเอียด  ในอดีตนิยมปลูกแถวอำเภอบางคอแหลม  “บางล่าง” คือสวนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก แถบดาวคะนองลงไปถึงเขตบางขุนเทียน   เป็นส่วนหนึ่งของสวนใน

 ชมพูศรี

 

ชื่อพันธุ์                ชมพูศรี

ชื่อวิทยาศาสตร์      Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ               เป็นทุเรียนเก่าพันธุ์หนึ่ง  ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดลวง  ผู้เพาะคื่อนายจั่น  บ้านปากคลองวัดสนาม  ตำบลวัดชะลอ อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี เพาะหลังน้ำท่วมปี พ.ศ. 2460   และมีปลูกกันมากใน   จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์        พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ทรงพุ่มโปร่งค่อนเล็กและไม่สูงนัก  ลำต้นมักไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน  การแตกของกิ่งไม่ค่อยเป็นระเบียบ    ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างยาวและมีขนาดใหญ่  ส่วนกว้างประมาณ  6.5  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  16  เซนติเมตร  ขอบใบเรียว  ฐานใบแหลมป้านปลายใบแหลม  แผ่นใบค่อนข้างราบแต่ไม่สม่ำเสมอ  ใบเขียวแก่เป็นมัน  รูปทรงของดอกค่อนข้างยาวหัวท้ายมน  ก้านดอกและก้านดอกจะเรียว  ผลค่อนกลมยาว    มักจะมีพูหลอก  หนามมีขนาดกลาง  ฐานหนามค่อนข้างใหญ่  ปลายหนามแหลม  ผลมีสีเขียวหรือน้ำตาล  ก้านผลมีขนาดยาวปานกลาง  เปลือกผลบาง  ในแต่ละพูมี  1-3  เมล็ด  เมล็ดขนาดเล็กหรือลีบ  เนื้อมีลักษณะเป็นเส้นค่อนข้างหยาบสีเหลืองจัด   รสหวานมัน  กลิ่นแรง

ลักษณะทางการเกษตร

           เป็นทุเรียนที่ปลูกง่ายให้ผลเร็ว   4 ปีก็ให้ผลได้  เปลือกบาง จึงแตกง่าย เนื้อมาก เป็นทุเรียนที่นิยมปลูกสับระหว่างทุเรียนหลัก  เพราะเป็นทุเรียนพุ่มเล็ก

 แดงรัศมี

 ชื่อพันธุ์                แดงรัศมี

ชื่อวิทยาศาสตร์      Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ              เป็นทุเรียนที่ได้จากการเพาะเมล็ดลวง เพาะโดยนายเวียน ในคลองวัดสัก ตำบลบบางขนุน  อำเภอบางกรวย   จังหวัดนนทบุรี

สถานภาพพันธุ์     พันธุ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะเรือนต้นทุเรียนยอดชะลูดสูง จนงอกลับลงมา ทำให้กิ่งที่แตกอยู่ข้างๆเป็นยอดแทน เปรียบเสมือนหางไก่  ทำให้ทุเรียนไม่เจริญเติบโต ใบค่อนข้างยาวกว่าลวง ใบเขียวแก่เป็นมัน   ผลใหญ่คล้ายลวงสีเขียวหนามใหญ่ ก้านขั้วขนาดกลาง  รสชาติหวานมัน เนื้อดีสีแดงเป็นมัน 

ลักษณะทางการเกษตร

           เป็นทุเรียนที่ทีปลูกยากต้นหนึ่ง   ต้นไม่ค่อยแข็งแรง   มีเนื้อทุกพูต่างจากลวง

 เม็ดในยายปราง

ชื่อพันธุ์         เม็ดในยายปราง

ชื่อวิทยาศาสตร์    Durio  zibthinus  Murray

ประวัติ    เป็นทุเรียนที่เพาะจากเม็ดกระคุมโดย   นายนาก    เป็นผู้เพาะ ในจังหวัดธนบุรีตั้งชื่อว่า  เม็ดในตานาค  ต่อมาได้มีการตั้งชื่อใหม่   ทุเรียนพันธุ์พานพระศรี  แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจนหลัง พ.ศ  2520    นางปราง    ฉิมพุก ได้นำมาปลูกที่สวนใน ม.5  ตำบลบางกร่าง  อำเภอ  เมือง    จังหวัดนนทบุรี  โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร  ผู้ซื้อที่ตลาดบางบัวทองนิยมชมชอบกันมาก   ก็เลยเรียกว่าทุเรียนยายปรางต่อมาก็เรียกกันว่า  “ เม็ดในยายปราง”

สถานภาพพันธุ์    พันธ์พื้นเมือง

ลักษณะประจำพันธุ์   

  เป็นทุเรียนเบาพุ่มเล็ก  การจัดกิ่งไม่เป็นระเบียบ  ใบรูปร่างป้อมกลางใบ ปลายใบ ทรงผลลูกเล็ก  ลูกบิดง้อ  ปลายผลป้าน หนามละเอียดเล็กแหลม

ลักษณะทางการเกษตร 

การเจริญเติบโตของต้นโตเร็ว การออกดอก ติดผลมาก ผลมีขนาดเล็กถึงปานกลาง เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อหนา  รสหวานมันพิเศษ  เนื้อละเอียด

 

อ้างอิง

ศศิวิมล แสวงผล วิษุวัติ สงนวล และอุษณีย์  พิชกรรม ๒๕๕๕. พันธุ์ทุเรียนแห่งนนทบุรี.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. กรุงเทพฯ

กรมวิชาการเกษตร.  การจำแนกลักษณะประจำพันธุ์ทุเรียนพื้นเมือง .จังหวัดนนทบุรี .๒๕๕๖

ปิยะ เกียรติก้อง .   การสำรวจพันธุ์ทุเรียนในจังหวัดธนบุรี.  ๒๕๐๐หน้า15-35วิทยานิพนธ์คณะกสิกรรมและสัตวบาล  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภาพประกอบจาก : จงดี โตอิ้ม. การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมทุเรียนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสวนทุเรียนในประเทศไทย ตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี: กรณีศึกษา จังหวัดนนทบุรี โครงการย่อยที่ 3 โครงการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในจังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ; 2555.

 
Visitors: 507,431