ภูมิปัญญาชาวสวนนนท์

ภูมิปัญญาการปลูกทุเรียนนนท์

       การปลูกทุเรียนให้ประสบผลสำเร็จนั้น  มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ตั้งแต่การเริ่มต้นที่ควรถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันปัญหายุ่งยากต่างๆ  ที่เกิดขึ้นภายหลัง

สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจปลูก  คือ  พื้นที่ปลูกหรือการเลือกทำเลที่ปลูก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับชนิดของดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน,  น้ำที่ใช้ในการชลประทาน,  ทิศทางลมอุณหภูมิ, ปริมาณน้ำฝน,  แสงแดด,  การขนส่งและการตลาด  และพันธุ์หรือชนิดของทุเรียนที่จะเลือกนำมาปลูก เป็นต้น  เนื่องจากทุเรียนไม่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่  รวมถึงในนนทบุรีก็เช่นกันนิยมปลูกในอำเภอเมือง  บางกรวย  บางใหญ่ ปากเกร็ด  ส่วนบางบัวทองกับไทรน้อยปลูกได้เป็นบางตำบล

สภาพอากาศ

     ทุเรียนสามารถขึ้นได้ตั้งแต่ภาคใต้ถึงภาคเหนือสุดของประเทศไทย  แต่ทุเรียนชอบอากาศร้อนมีความชื้นในอากาศสูงจึงจะขึ้นได้ดี  ถิ่นที่อากาศแบบนี้มักเป็นที่มีฝนตกชุกราว  2,000  มิลลิเมตรต่อปี มีอุณหภูมิ 25-37 องศา การวางแนวหรือระยะการปลูกเพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเจริญเติบโตของทุเรียน  แสงแดด และทิศทางของลมมีความสำคัญมาก   โบราณการปลูกทุเรียนไม่มีการใช้สารเคมีใดๆต้องอาศัยธรรมชาติ   แสงแดดช่วยในการป้องรักษาโรคพืชได้เป็นอย่างดีเช่น  เชื้อราตามลำต้น  หนอนกินต้น   ลมก็เช่นเดียวกัน   การผสมเกสรในฤดูที่ทุเรียนดอกกำลังบาน "ลมหนาว" มีส่วนช่วยให้การผสมเกสรได้เป็นอย่างดี  หลักหนึ่งที่ชาวสวนนนท์นิยมทำในอดีตก็คือการยกจากที่นา ที่ลุ่มเป็นสวนผลไม้ที่จะปลูกทุเรียนให้ได้ผลนั้น   เป็นภูมิปัญญาที่มีประโยชน์มากในปัจจุบันคือการวางแนวสวนตามตะวัน  และวางระยะการปลูก

ดิน

     การเลือกดินและการปรับปรุงดินปลูกนับว่าเป็นสิ่งสำคัญเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน  การปลุกทุเรียนลงในดินที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์แล้วย่อมได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ  นนทบุรี  เป็นพื้นที่ดินเหนียวลุ่มแม่น้ำเป็นดินที่มีอินทรีย์วัตถุมาก  ซึ่งเกิดจากซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมอยู่ในดินนานปีและดินชนิดนี้มักมีการระบายน้ำพอเหมาะกับความต้องการของพืช  หรืออาจเป็นที่ดอนซึ่งมีดินร่วนปนทรายอุ้มน้ำไม่ดี  เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงหรือสามารถกั้นน้ำได้  ต้นทุเรียนไม่ชอบให้น้ำแช่โคนเพราะรากต้องการอากาศมาก  หากถูกน้ำท่วมเพียงไม่กี่วันก็จะตาย

น้ำ

        น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งทางการเกษตร  เพราะเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของพืช  รวมทั้งขบวนการเปลี่ยนแปลงภายในของพืชอีกด้วย  น้ำเป็นตัวกลางในการลำเลียงอาหารจากรากไปสู่ใบเพื่อปรุงอาหารโดยการสังเคราะห์แสงและนำอาหารที่สังเคราะห์แสงแล้วจากใบไปยังส่วนต่างๆ  ของลำต้น  ช่วยควบคุมอุณหภูมิของต้นพืช  ถ้าขาดน้ำเสียแล้วอาหารในดินหรือปุ๋ยที่ใส่ลงไปจะไม่เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้เลย  การทำสวนทุเรียนต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่  ควรเลือกพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำ  ลำคลอง    ที่สามารถนำน้ำมาใช้สะดวกในฤดูแล้ง   ทุเรียนไม่สามารถได้ถ้าน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มขึ้นถึง


ลักษณะแปลงสวน

        การทำสวนทุเรียนในนนทบุรีจึงต้องทำสวนแบบยกร่อง  นิยมทำกันในแถบที่ลุ่มและมีดินเหนียวจัด  เช่น  แถบจังหวัดนนทบุรี  ธนบุรี  ปทุมธานี  ในเขตที่ดินเป็นที่ลุ่ม  พื้นที่เดิมอาจเป็นนาลุ่ม  นาดอนหรือที่เชิงเลนริมแม่น้ำ  ซึ่งมักเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง  ก่อนที่จะทำการปลูกทุเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกร่องเพื่อป้องกันน้ำขังและมีการระบายน้ำดี นนทบุรี  นิยมปลูกแบบยกร่องโดยขุดเป็นร่องแบบสวนผักมีคันล้อม  ให้สันร่องที่จะปลูกทุเรียนกว้าง  6  เมตร    ขุดเป็นคูน้ำกว้าง  2  เมตรลึก 1.5 เมตร การปลูกทุเรียนนนทบุรี  นิยมปลูกแบบสลับฟันปลาเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มของทุเรียนเบียดกันและให้ลมระบายได้ดีในช่วงลมพายุฝนจะทำให้ทุเรียนไม่หักโค่นล้มเสียหาย

การวางระยะปลูกทุเรียน 

         การวางระยะปลูกทุเรียน จำเป็นต้องมีการวางแผนผังการปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ลักษณะดินและคุณสมบัติของดิน  เพื่อความเป็นระเบียบสะดวกในการปฏิบัติงานในสวน  ตลอดจนทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตดี  ติดดอกออกผลที่มีคุณภาพ  ก่อนที่จะปลูกจะต้องเตรียมแผนการไว้ล่วงหน้าเพื่อกันการผิดพลาดและต้องทำอย่างมีแผนแน่นอน  ไม่ปลูกแบบเดาสุ่ม  ไม่พอใจก็ขุดย้ายปลูกใหม่จะทำให้เสียเวลาและแรงงานโดยเปล่าประโยชน์        อาจใช้ระยะปลูก  8-12  เมตร  แล้วแต่พันธุ์และความอุดมสมบูรณ์ของดิน  ต้องคำนึงถึงทรงพุ่มของแต่ละสายพันธุ์  ถ้าเป็นพันธุ์หนักก็ต้องปลูกให้ห่างออก  แต่โดยมากมักจะปลูกกันในระยะ  8-10  เมตร

        ทั้งนี้การปลูกทุเรียนนนทบุรีหรือธนบุรีในอดีตนิยมเตรียมหลุมปลูกแบบยกโคกให้สูงจากพื้นดิน  ถึงแม้ว่าจะยกร่องสวนอยู่แล้วก็ตาม  แต่การยกโคกนี้ไม่ได้เอาดินที่อื่นมาทำโคก  เพียงแต่เอาดินตรงบริเวณที่ต้องการจะปลูกทุเรียนนั้นมาพูนให้สูงเป็นโคก   ฟันดินเป็นรูปวงกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร  การฟันดินยิ่งลึกเทาไร่ยิ่งดี    ย่อยดินเหล่านั้นให้เล็กลงพูนดินคล้ายรูปกรวยกลมสูงประมาณ  2 ศอก  ตอนกลางควรใช้ดินละเอียด    การที่ทำโคกทิ้งไว้ล่วงหน้าหลายเดือนไม่สมควรทำเพราะจะทำให้โคกดินแน่น   การถ่ายเทอากาศในดินไม่ดี   การยกโคกเพื่อระบายน้ำออกเมื่อฝนตกหรือเวลารดน้ำจะได้ไม่ท่วมขัง     การถ่ายเทอากาศดีขึ้นเพราะเป็นดินเหนียว  เป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตช้า

การพรวนทุเรียนและการจัดราก 

     ทุเรียนเป็นต้นไม้ที่ชอบการถ่ายเทอากาศในดินดี จะเห็นว่าถ้าดินแน่นเกินไปทุเรียนจะไม่เจริญ ในปีแรกการพรวนยังไม่จำเป็น เพราะดินยังโปร่งอยู่ ในปีที่สองจึงมีการพรวนประกอบกับการจัดรากไปพร้อมๆกัน โดยแบ่งโคกออกเป็น 2 ด้าน ค่อยๆขุดดินด้านหนึ่งของโคกออกให้เหลือแต่ราก แล้วจัดรากที่คดให้ตรง ที่ไหนมีรากใหญ่ๆหลายอันไปร่วมกัน ก็จับแยกไว้ทางที่ไม่มีราก เพื่อที่รากจะได้หาอาหารจากหลายๆแห่ง ต้นทุเรียนที่มีรากมากจะเป็นต้นที่แข็งแรงเจริญเติบโตเร็ว ถ้ามีรากน้อย เช่น มีเพียง 1 หรือ 2 ราก ต้องผ่าราก ใช้ไม้ที่ทำคล้ายรูปสิ่ว ผ่าจากปลายรากเข้าไปแล้วจับแยกออก เมื่อจัดรากเรียบร้อยแล้วจึงวางกลางดินอาจจะใช้ดินเดิมหรือที่ีมีวัชพืชจากที่อื่นก็ได้ ในปีต่อไปจึงจัดรากอีกด้านหนึ่ง รากที่ผ่านั้นภายใน 15 วัน จะกลมเหมือนรากธรรมดา การจัดรากควรทำใน 2-3 ปีแรก หลังนั้นจากพรวนทุกปีเลือกพรวนต้นทีไม่เจริญเติบโตก่อน ส่วนต้นใดที่เจริญเติบโตอยู่ไม่ควรพรวน การพรวนใช้พรวนขอบรอบนอกของโคกและให้ขยายออกไปทกปี ยิ่งพรวนลึกเท่าใดยิ่งดี เพื่อกันรากต้นไม้ือื่นเข้าแย่งอาหาร นำดินที่พรวนกลบเข้าหาโคนต้นทุเรียนทั้งก่อนใหญ่ๆ ไม่ต้องย่อย การพรวนควรทำก่อนฤดูฝนสักเล็กน้อย


การเพิ่มพืชวัตถุ ( Organic matter) ในดิน

     ทุเรียนเป็นต้นไม้ที่ให้ผลใหญ่ ต้องการอาหารธาตุในการสร้างผลและลำต้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในปีหนึ่งๆ ชาวสวนจะเอาเลนในท้องร่องขึ้นกลบโคนทุเรียนปีละครั้ง เรียกว่า "ลอกท้องร่อง, ลอกเลน" เป็นการเพิ่มพืชวัตถุในดิน เพราะเลนในท้องร่องประกอบด้วยใบไม้,กิ่งไม้ ที่ร่วงหล่นทับถมกันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ถึงแม้ว่าธาตุอาหารบางอย่างจะสลายตัวไปบ้างก็ตาม แต่การลอกท้องร่องทุกปีนับว่าได้ช่วยต้นทุเรียนเจริญงอกงามอยู่มากเหมือนกัน ส่วนบางแห่งถึงกับตัดต้นกล้วย หญ้า หรือต้นไม้อื่น ทิ้งหมักไว้ในท้องร่องเพื่อจะได้มีเลนและพืชวัตถุมาก 

           การเพิ่มพืชวัตถุอีกแบบหนึ่ง คือ การขุดบ่อกลางร่องระหว่างต้นทุเรียน ลึกประมาณ 1 ศอก หรือ 2 ฟุต กว้างและยาวแล้วแต่ขนาดความกว้างของร่องและความยาวระหว่างโคกทุเรียน ถ้าขุดลึกกว่านี้จะมีน้ำขังทำให้รากทุเรียนเน่า ภายในบ่อใช้ใบไม้,หญ้าสดๆ หรือ กิ่งไม้ทับถม ลงไป การขุดแบบนี้นอกจากเป็นการเพิ่มพืชวัตถุแล้ว  ยังทำให้การถ่ายเทอากาศในดินดีอีกด้วย ดินที่ได้จากการขุดบ่อยังนำไปทำเป็นคันกั้นน้ำรอบสวนเพื่อกันน้ำท่วม


การใส่ปุ๋ย

        โดยมากไม่นิยมใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และให้เหตุผลว่าการใส่ปุ๋ยทุเรียนจะต้องใส่ติดต่อกันทุกปี ถ้าเว้นการให้ปุ๋ยจะทำให้ทุเรียนหยุดการเจริญเติบโตทันที ชาวสวนเชื่อว่าการเพิ่มพืชวัตถุในดินตามวิธีที่กล่าว ถืิอว่าเพียงพอแล้วสำหรับทุเรียน และจะทำให้ทุเรียนเจริญเติบโตเสมอดีด้วย ถ้าได้มีการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์บ้างภายหลังการพรวนและสาดเลนจากท้องร่องทับอีกครั้งหนึ่ง จะทำให้ทุเรียนเจริญงอกงามได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีสวนบางรายทำแล้วได้ผลดี 


การเด็ดยอด

        ถ้าหากทุเรียนต้นใดสูงชะลูดไม่ได้สัดส่วนต้องรีบแก้ไขทันที เพราะขืนปล่อยไว้จะทำให้ต้นไม่แข็งแรงหักง่ายเมื่อถูกพายุ ให้ผลน้อยไม่สะดวกต่อการค้ำและเก็บผลและอื่นๆ แก้โดยการเด็ดยอดออกเสีย 10-20 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตทางด้านข้างและปรับปรุงส่วนล่างของลำต้น ถ้ามีต้นไม้เช่นต้นหมากหรือต้นไม้อื่นขึ้นมาขนาบควรพยามตัดทิ้งลีละเล็กทีละน้อยจนกว่าทุเรียนจะต้นใหญ่

 

Visitors: 505,796